นายกฯ ยินดี "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ผ่านสภาฯ ความภาคภูมิใจของสังคมไทย
นายกฯ โพสต์แสดงความยินดี สภาฯผ่านร่าง "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" ชี้เป็นความภาคภูมิใจของสังคมไทย ร่วมกันเดินไปสู่สังคมแห่งความเท่าเทียม
ภายหลังจาก ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 400 เสียง ต่อ 10 เสียง ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระที่ 3 ตามที่คณะกรรมการธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ
-เห็นชอบ 400 เสียง
-ไม่เห็นชอบ 10 เสียง
-งดออดเสียง 2 เสียง
-ไม่ลงคะเเนเสียง 3 เสียง
โดยที่ สส.มุสลิม ได้ขอใช้เอกสิทธิ์ไม่ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากขัดต่อหลักศาสนา ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือส่งให้วุฒิสภาพิจารณา และหากผ่านของวุฒิสภาแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความแสดงความยินดี ผ่านเฟซบุ๊กว่า "เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งครับ วันนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระสาม พร้อมเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปในขั้นวุฒิสภา
ผมถือว่าความสำเร็จนี้เป็นความเห็นพ้องต้องกันของสังคมไทย ที่จะร่วมกันสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเพศสภาพและการสร้างครอบครัวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่รัฐควรให้การรับรอง
เริ่มต้นที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายผลักดันความเท่าเทียมทางเพศสภาพ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภาในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ครั้งนี้ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับพรรคเพื่อไทย เสนอเข้าสู่สภาควบคู่กับร่างของคณะรัฐมนตรี ของพรรคอื่น และของภาคประชาชน จนนำมาสู่ความสำเร็จในวันนี้
ตัวผมเองเมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็วางเป้าหมายสนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านคณะรัฐมนตรี และผ่านความเห็นชอบของกฤษฎีกา จนนำเข้าสู่รัฐสภาให้ได้ ในขั้นตอนการยกร่าง พ.ร.บ.นั้น เราได้รับฟังความเห็นที่หลากหลาย เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมทั้งการพิจารณากฎหมายแวดล้อมอื่น ๆ ประกอบด้วย ผมจึงได้ มีโอกาสทำงานร่วมกับหลายองค์กร
ทั้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เครือข่ายภาคประชาชน ใน LGBTQIA+ community และองค์กรเอกชนต่าง ๆ ที่ทำงานด้านนี้ จนทำให้ร่างของคณะรัฐมนตรีสำเร็จในปลายเดือน ตุลาคม 2566 ก่อนจะนำเข้าสภาผู้แทนราษฎรและผ่านวาระแรกร่วมกับร่างอื่น ๆ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566
การผ่านมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของสังคมไทย ที่ร่วมกันเดินไปสู่สังคมแห่งความเท่าเทียม และเคารพในความหลากหลาย
ภูมิใจครับ Our PRIDE! #สมรสเท่าเทียม ครับ"
ข่าวแนะนำ