พรรคก้าวไกล แถลงส่งไม้ต่อพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
"ชัยธวัช ตุลาธน" แถลง พรรคก้าวไกล จะเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ ต่อที่ประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป
"ชัยธวัช ตุลาธน" แถลง พรรคก้าวไกล จะเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ ต่อที่ประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป
หลังจากเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมรัฐสภา เข้าสู่วาระการพิจารณาเป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ครั้งที่สอง นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างตึงเครียดจากการประท้วงกันระหว่าง สส.ทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีความเห็นไม่ตรงกัน โดยใช้เวลาอภิปรายกว่า 7 ชั่วโมง ถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ที่ห้ามมีการเสนอญัตติซ้ำ ในสมัยประชุมเดียวกันจนต้องตีความว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายเป็นการเสนอญัตติซ้ำ ตามข้อบังคับที่ 41 หรือไม่
ต่อมาในที่ประชุมได้เข้าสู่กระบวนการลงมติ เรื่อง การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งการลงมติไม่เห็นชอบ ให้เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำได้อีก จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้สั่งปิดการประชุมทันที ในเวลา 17:09 น.
ล่าสุด นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวความคืบหน้าการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล โดยระบุว่า การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นการประกาศเจตจำนงของประชาชนที่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจนชนะเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 คือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิม
แต่ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ทุกอย่างชี้ชัดว่าไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังตัดสิทธิการเมืองของแกนนำพรรคและยุบพรรคก้าวไกลให้ได้
ด้วยเหตุนี้ ส.ว. จึงฝืนมติมหาชน ไม่โหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร มิหนำซ้ำยังกล้าทำลายหลักการ ตีความข้อบังคับของรัฐสภาให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนการล้มล้างการปกครอง หรือฉีกรัฐธรรมนูญผ่านกฎหมู่ เพียงเพื่อต้องการขัดขวางไม่ให้เสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯในครั้งที่สอง
พรรคก้าวไกลไม่ยอมรับการตีความข้อบังคับดังกล่าว แต่ภายใต้การทำงานที่สอดประสานกันทั้งองคาพยพของฝ่ายอนุรักษนิยมเช่นนี้ เราจำเป็นต้องขอโทษต่อประชาชน และยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าพวกเขาไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ดี การที่พิธาไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ได้หมายความว่าภารกิจการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อพลิกขั้วอำนาจรัฐบาลจะไม่สำเร็จไปด้วย เป้าหมายสูงสุดของเราในฐานะพรรคอันดับ 1 ยังคงอยู่ นั่นคือการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิมให้สำเร็จ สิ่งสำคัญในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องพิธาจะเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ แต่คือเรื่องประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ หยุดการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่
ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจะเปิดโอกาสให้ประเทศให้พรรคอันดับ 2 คือ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพันธมิตร 8 พรรคที่เคยทำ MOU ร่วมกันเอาไว้ ดังนั้นในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป พรรคก้าวไกล จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯคนที่ 30 เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่เคยสนับสนุนพรรคก้าวไกล