เปิดขั้นตอนใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. 2565 เช็กข้อควรรู้อะไรทำได้-ไม่ได้บ้าง
เปิดขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. -ส.ก. เช็กข้อควรรู้ได้ที่นี่ อะไรทำได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง
ก่อนจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ในครั้งนี้ วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
เรามาดูขั้นตอนการเลือกตั้ง และอย่าลืมสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจคัดกรองอุณหภูมิป้องกันโควิด 19
ขั้นตอนการเลือกตั้ง
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่ของตนเอง จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้งให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 2 ยื่นหลักฐานแสดงตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ ที่มีภาพถ่าย และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
ขั้นตอนที่ 3 ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ และรับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ
ในกรณีที่ย้ายเขตที่อยู่ใหม่ จะได้รับบัตรเลือกตั้งที่เขตที่อยู่ใหม่เพียงใบเดียว คือ บัตรเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และจะต้องเดินทางไปยังเขตที่อยู่เดิมที่ได้ทำการเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
ขั้นตอนที่ 4 เข้าคูหา ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องให้เต็มช่อง โดยทำเครื่องหมาย ดังนี้
- บัตรสีน้ำตาล เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถเลือกผู้สมัครได้ 1 คน เท่านั้น
- บัตรสีชมพู เลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สามารถเลือกผู้สมัครได้เขตละ 1 คน ในเขตของตนเท่านั้น
- หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใดให้กากบาทที่ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน แล้วพับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ ให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 5 หย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบด้วยตนเอง โดยจะต้องสังเกตหีบบัตร และหย่อนให้ถูกประเภทด้วย
ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
สีของบัตรเลือกตั้ง
ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้สีของบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เป็นบัตรสีน้ำตาล ส่วนบัตรเลือกส.ก.เป็นสีชมพู
ทั้งนี้ ก่อนเข้าคูหา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกทม. จะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยบัตรผู้ว่าฯและบัตรเลือกส.ก.จะเลือกกากบาท (X) ได้หมายเลขเดียว หากไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครใดให้กากบาท (X) ในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครผู้ใดที่บริเวณมุมขวาของบัตร
การคูหาลงคะแนน
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เข้าคูหาลงคะแนนแล้ว ต้องทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมายที่กำหนดให้ หากทำเครื่องหมายอื่นที่ไม่ใช่เครื่องหมายกากบาท (X) หรือขีดเขียนข้อความอื่นลงภายในบัตรเลือกตั้ง จะทำให้บัตรเลือกตั้งนั้นเป็นบัตรเสียทันที
(แนบตัวอย่างเครื่องหมายที่เป็นลักษณะบัตรดีและบัตรเสีย)
การใช้หมึกปากกา กากบาท
ด้านนายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร (กกต.กทม. ) ให้สัมภาษณ์ว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีความเข้มงวดในการป้องกันการระบาดของโควิด – 19 โดยจัดเตรียมคูหาพิเศษ และขั้นตอนสำหรับผู้ติดเชื้อและเป็นโควิด -19 อีกทั้งยังมีข้อปฎิบัติแนะนำในการป้องกันในระหว่างการมาลงคะแนนเลือกตั้ง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงการนำปากกาของตัวเองมาด้วย
ทางกกต.กทม.ขอแนะนำเพิ่มเติม กรณีนำปากกามาเอง ขอให้เป็นปากกาลูกลื่น หมึกสีน้ำเงินเท่านั้น เพื่อไม่ให้แตกต่างจากสีปากกาที่จัดเตรียมไว้ในคูหาลงคะแนน หรือหากนำสีอื่นมา จะใช้ได้เฉพาะขั้นตอนของการลายมือชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และลงลายมือในต้นขั้วบัตรเลือกตั้งเท่านั้น และก่อนกากบาทหมายเลขที่เลือกควรรอให้เจลแอลกอฮอล์ แห้งเสียก่อน เพราะอาจทำให้บัตรเลอะเลือน กลายเป็นบัตรเสียได้
11 ข้อห้ามการเลือกตั้งหากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย
การเลือกตั้งครั้งนี้ มีข้อห้ามตามกฎหมายที่ห้ามฝ่าฝืนเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นจะมีโทษตามกฎหมาย มีทั้งหมด 11 ข้อ ดังนี้
1. ห้ามไม่ให้ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนน หรือพยายามออกเสียงลงคะแนน
2. ห้ามจงใจทำให้บัตรเลือกตั้งของตนเองชำรุด เสียหายหรือทำให้เป็นบัตรเสีย หรือพยายามทำให้บัตรเสียเป็นบัตรที่ใช้ได้
3. ห้ามผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการเลือกตั้ง
4. ห้ามจัดหรือเล่นการพนันที่มีเดิมพันเกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง
5. ห้ามหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีใดก็ตาม แม้จะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
6. ห้ามใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง
7. ห้ามขาย จำหน่าย แจกจ่าย หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง
8. ห้ามเรียก รับ หรือยอมรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครใด หรืองดเว้นไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
9. ห้ามทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง หรือเพื่อแกล้งให้ผู้สมัครผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
10. ห้ามจงใจทำเครื่องหมายอื่น หรือเขียนข้อความใดไว้ที่บัตรเลือกตั้งนอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนนเสียง
11. ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ
ภาพจาก TNN ONLINE (แฟ้มภาพ)