สถานการณ์แม่น้ำโขงล่าสุด เริ่มลดระดับลงแล้ว ยังเฝ้าระวังถึงวันที่ 19 ก.ย.
สถานการณ์แม่น้ำโขงล่าสุด หนองคายเริ่มลดระดับลงแล้ว ยังเฝ้าระวังถึงวันที่ 19 ก.ย. หลายจว. ยังได้รับผลกระทบ
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย พบว่าระดับน้ำได้ลดลงจากเมื่อวาน ซึ่งเป็นสัญญาณดีต่อสถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอศรีเชียงใหม่ขณะนี้ หากไม่มีฝนตกหนักลงมาอีก คาดว่าระดับน้ำโขงก็จะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับอำเภอศรีเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่ติดแม่น้ำโขง ระดับน้ำได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้วหลายจุด และระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้น จนข้ามฝั่งถนนสายศรีเชียงใหม่-สังคม ไหลเข้าไปยังที่ว่าการอำเภอศรีเชียงใหม่ ระดับน้ำสูงประมาณ 60 เซนติเมตร รถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ต้องใช้รถยกสูงเท่านั้น และพื้นที่ถูกน้ำท่วมก็ขยายวงกว้างออกไป เนื่องจากน้ำโขงไหลเชี่ยวมาก ชาวบ้านหลายคนเก็บข้าวของหนีน้ำไม่ทัน ได้รับความเสียหายจำนวนมาก
ส่วน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดบึงกาฬ เพิ่มขึ้นจากเช้าวานนี้ 18 เซนติเมตร เทศบาลเมืองบึงกาฬ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ บริเวณหน้าเทศบาลเมืองบึงกาฬ 6 จุด เพื่อสูบน้ำที่อยู่ในท่อระบายออกสู่แม่น้ำโขง
ขณะที่บริเวณห้วยอาฮง ที่เป็นลำน้ำสาขาไหลสูงสู่แม่น้ำโขง ถูกมวลน้ำโขงจำนวนมากไหลย้อนกลับเข้าลำห้วย และล้นถนนสายระหว่างตำบลหอคำ-ตำบลโนนสว่าง รวมถึง พื้นที่การเกษตรไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่ นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือนที่น้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นเข้าลำห้วยสาขา ท่วมพื้นที่การเกษตรและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
จังหวัดบึงกาฬมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพ จำนวน 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเซกา มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 300 ครัวเรือน
นอกจากนี้ ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยพื้นที่เกษตร ปศุสัตว์และประมง จำนวน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีวิไล, อำเภอปากคาด, อำเภอเมืองบึงกาฬ, อำเภอพรเจริญและอำเภอเซกา
ขณะที่ จังหวัดนครพนม ได้รับผลกระทบจากน้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง ล่าสุดระดับน้ำโขงห่างจากจุดล้นตลิ่ง 40 เซนติเมตร จากการตรวจสอบมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ คือ อำเภอท่าอุเทน อำเภอบ้านแพง อำเภอเมืองนครพนมและอำเภอศรีสงคราม โดยภาพรวมพื้นที่ จังหวัดนคพรนม ได้รับผลกระทบไม่มากและยังสามารถรองรับน้ำได้อีก เนื่องจากปัจจัยมีฝนตกในพื้นที่น้อย ทำให้มวลน้ำส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนใหญ่จะเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
ส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ พื้นที่ติดลำน้ำสาขาสายหลัก ทั้ง ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ที่ไหลมารวมกันที่อำเภอศรีสงครามก่อนที่จะไหลลงน้ำโขง จากการสำรวจมีพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบแล้วกว่า 70,000 ไร่ หากระดับน้ำโขงเพิ่ม จะส่งผลกระทบมากขึ้นและเกิดความเสียหายเกือบทั้งหมด โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการสำรวจ เตรียมช่วยเหลือชดเชยเยียวยา ตรามระเบียบทางราชการ
และที่ จังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่สำรวจแนวตลิ่งของอำเภอโขงเจียม ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำโขงกับแม่น้ำมูล หลังแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นวันละเกือบ 1 เมตร ทำให้ปัจจุบัน ระดับน้ำเหลือต่ำกว่าตลิ่งเพียง 2 เมตร และคาดว่ามวลน้ำเหนือก้อนแรก จะเดินทางมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี ในอีก 3 - 4 วันนี้ เพราะปัจจุบันมวลน้ำเหนือได้ไหลมาถึงจังหวัดนครพนมแล้ว
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี บอกว่า จากคาดการณ์หากมวลน้ำก้อนแรกมาถึงก็จะทำให้พื้นที่ 5 อำเภอ ถูกน้ำท่วม คือ อำเภอเขมราฐ, นาตาล,โพธิ์ไทร, ศรีเมืองใหม่ และอำเภอโขงเจียม มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 40 หมู่บ้าน จึงสั่งตั้งศูนย์อพยพไว้แล้วรวม 32 จุด พร้อมได้แจ้งเตือนประชาชน เพื่อรับมือกับมวลน้ำที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากมวลน้ำที่ไหลมายังจังหวัดอุบลราชธานี ไม่ใช่มีเพียงแม่น้ำโขงแต่มีลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงใน สปป.ลาวและแม่น้ำมูลในไทยไหลมาสมทบด้วย
ข้อมูลจาก: เทศบาลเมืองหนองคาย
ภาพจาก: เทศบาลเมืองหนองคาย
ข่าวแนะนำ