ตามรอย “บะลาโกล” จากเสือโคร่งหลงป่าคลองลาน สู่บ้านใหม่ครบ 30 วัน ในป่าทับลาน
สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ติดตามการใช้ชีวิตของเสือโคร่งบะลาโกล ที่หลังฟื้นฟูร่างกายจนแข็งแรง ส่งคืนสู่ป่าในบ้านใหม่ทับลาน ครบ 30 วัน พบทั้งรอยเท้ามุ่งสู่ป่าลึก และร่องรอยการล่าเหยื่อ
หลังจากสร้างความแตกตื่นด้วยการออกมาเดินโชว์ตัวกลางหมู่บ้านในพื้นที่ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จนทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมส่วนงานที่เกี่ยวข้องต้องออกติดตามจนสามารถจับตัวเสือโคร่งวัยรุ่น เพศผู้ ที่หลงออกมาจากป่าอุทยานแห่งชาติคลองลานได้ และส่งตัวเข้ารับการดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เพื่อฟื้นฟูร่างกายที่ซูบผอม และรักษาดวงตาข้างซ้ายที่เป็นต้อและอักเสบรุนแรงด้วยการควักตาออก พร้อมกับถูกตั้งชื่อว่า “เสือบะลาโกล”
หลังฟื้นฟูร่างกายจนแข็งแรง จึงถูกนำปล่อยคืนสู่ป่า ซึ่งไม่ใช่ป่าคลองลานบ้านหลังเดิม แต่เป็นบ้านหลังใหม่ ที่ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) , สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ประชุมหารือคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมให้ คือ พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้มีการนำเสือบะลาโกล ปล่อยคืนสู่ป่าช่วงเช้ามืดของวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา และ ครบ 1 เดือนเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่เสือโคร่งบะลาโกลใช้ชีวิตในผืนป่าที่เป็นบ้านแห่งใหม่
ตลอด 1 เดือน การใช้ชีวิตของเสือบะลาโกล อยู่ภายใต้การติดตามของเจ้าหน้าที่ทีมวิจัย "สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" ด้วยการจับสัญญาณผ่านระบบดาวเทียมจากปลอกคอที่ติดให้กับเสือ ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เดินออกจากกรงเคลื่อนย้าย ซึ่งทางเพจเฟซบุ๊ก สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ระบุ พบทิศทางการเคลื่อนที่ของเสือ ที่มุ่งหน้าจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลานสู่เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาที่เชื่อมต่อกัน ... "มันก็ตั้งหน้าตั้งตาออกเดินเข้าป่าทับลาน ขึ้นเขา เลาะห้วย จนข้ามเขตไปยังปางสีดา"
และจากการเดินเท้าติดตามสัญญาณดาวเทียม ตรวจสอบจากพิกัดเส้นทางที่เสือผ่าน ก็พบทั้ง รอยนอน รอยลับเล็บ และรอยเท้า ที่ทำให้รู้ถึงทิศทางการมุ่งหน้าไปของเสือบะลาโกล ที่สำคัญพบร่องรอยขนสัตว์ และ การกินเหยื่อ
เพจเฟซบุ๊ก สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ระบุ เป็นสัญญาณที่ดีของการใช้ชีวิตตามธรรมชาติของเสือบะลาโกลที่ถูกนำมาปล่อยคืนสู่ป่า ซึ่งการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งบะลาโกล จากป่าตะวันตก "คลองลาน" คืนสู่ป่าฝั่งตะวันออก "ทับลาน" เป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นครั้งแรกของไทย จากการติดตามพฤติกรรมและพบว่าเสือเริ่มปรับตัวในธรรมชาติ และออกล่าเหยื่อด้วยตัวเองได้ นักวิจัยถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี
และเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 เพจเฟซบุ๊ก Thailand Tiger Project DNP โพสต์ข้อมูล ครบรอบ 1 เดือนที่เสือโคร่งบะลาโกล ที่มีจุดเริ่มต้นจากอุทยานแห่งชาติคลองลาน ได้ใช้ชีวิตอิสระในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และมีเสือโคร่งอินโดจีนอาศัยอยู่ แต่ไม่หนาแน่นเท่าป่าตะวันตกแหล่งของประชากรเสือโคร่งกลุ่มใหญ่ของไทย
"บะลาโกล" ถูกเคลื่อนย้ายมาที่ทับลานด้วยเหตุผลหลักคือ การคืนชีวิตอิสระให้กับมัน ซึ่งเป็นเสือโคร่งป่าโดยกำเนิด ส่วนการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้นเป็นประเด็นรองที่จะเป็นประโยชน์ยิ่ง หากมันสามารถดำรงชีวิต และสืบต่อสายพันธุ์ได้ในป่าแห่งใหม่นี้
“หมูหริ่ง” คือเหยื่อตัวแรกที่ยืนยันได้ว่า มันคือ “ผู้ที่ล่าเป็น” แม้ว่ามันได้ผ่านการใช้ชีวิตในกรงเลี้ยงร่วม ๆ ร้อยวัน และล่าสุดทีมติดตามได้พบเห็นสิ่งที่ทำให้เชื่อได้ว่า มันนั้น “หากินเป็น”
ขณะที่การสัญจรร่อนเร่ของบะลาโกลในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นการวนเวียนในใจกลางของพื้นที่ และเมื่อนำตำแหน่งการเคลื่อนที่มาลากเส้นเชื่อมต่อกัน จึงได้รู้ว่าการเดินทางในช่วงเวลาที่ผ่านมาครอบคลุมพื้นที่ 53 ตารางกิโลเมตร
สำหรับผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ทางสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กำลังจะมีการศึกษานิเวศวิทยาเสือโคร่งในผืนป่าดังกล่าว มีการติดตั้งกล้องดักถ่าย เพื่อติดตามเสือโคร่งในพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีครอบครัวแม่เสือโคร่ง รหัส TLT 106 อยู่ในพื้นที่ และเป็นเป้าหมายในการศึกษาทั้งด้านพฤติกรรมและชีววิทยา ซึ่งการมีเสือบะลาโกลเข้ามาอยู่เพิ่ม นับได้ว่ามีความน่าสนใจในมิติของการสืบต่อสายพันธุ์ในอนาคต
ข้อมูล : FB สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ภาพ : FB Thailand Tiger Project DNP
ข่าวแนะนำ