TNN อนาคต "ปลากระเบนลำน้ำโขง" ส่องภัยคุกคามและความเสี่ยงสูญพันธุ์

TNN

ภูมิภาค

อนาคต "ปลากระเบนลำน้ำโขง" ส่องภัยคุกคามและความเสี่ยงสูญพันธุ์

อนาคต ปลากระเบนลำน้ำโขง ส่องภัยคุกคามและความเสี่ยงสูญพันธุ์

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตจับมือ 2 สถาบันการศึกษา สำรวจลำน้ำโขง บริเวณบ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย พื้นที่เดียวที่พบปลากระเบนแม่น้ำโขง ศึกษาปัจจัยความเสี่ยงสูญพันธุ์

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านริมแม่น้ำโขงใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย สำรวจข้อมูลภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบความเปลี่ยนแปลประชากรปลากระเบนในแม่น้ำโขงที่ลดลง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณ "บ้านดอนที่" ต.ริมโขง อ.เชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวในแม่น้ำโขง จ.เชียงราย ที่ชาวประมงพบและจับปลากระเบนได้บ่อยครั้งที่นี่ พร้อมจับมือมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการศึกษาวิจัยลักษณะพื้นที่บ้านดอนที่ ว่าเหตุใดจึงพบปลากระเบนได้เพียงเฉพาะที่นี่เท่านั้น


อนาคต ปลากระเบนลำน้ำโขง ส่องภัยคุกคามและความเสี่ยงสูญพันธุ์



อาจารย์สุทธิ มะลิทอง สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เปิดเผยถึงความโดดเด่นพื้นที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง มีจุดที่มีลักษณะที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครก” หรือ “วัง” ที่พื้นผิวใต้น้ำเป็นตะกอนดินโคลนปนทราย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของปลากระเบน ไม่ว่าจะเป็นหนอนแดง ใส้เดือนน้ำ อยู่จำนวนมาก และบริเวณ "หลงแก่ง" ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของตัวอ่อนแมลงชีปะขาว ซึ่งเป็นอาหารของปลากระเบน ทำให้ในพื้นที่นี้สามารถพบและจับปลากระเบนแม่น้ำโขงได้บ่อยครั้ง 


สำหรับความเสี่ยงของปลากระเบนก็คือที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร หากหายไปก็จะทำให้จำนวนปลากระเบนลดลง ซึ่งพบว่าพืชริมน้ำถือเป็นแหล่งดักตะกอนที่ให้เกิดดินโคลนและทรายที่อยู่ของอาหารของปลากระเบน โดยปัจจัยที่มีผลทำให้สิ่งเหล่านี้หายไป ก็คือ ระดับน้ำโขงที่มีการเปลี่ยนแปลง น้ำขึ้น น้ำลง ที่ไม่เป็นธรรมชาติ กระทบแหล่งที่อยู่และอาหารของปลากระเบนลดลง ก็จะส่งผลให้ปลากระเบนย้ายถิ่นฐาน หรือสูญหายไปได้


อนาคต ปลากระเบนลำน้ำโขง ส่องภัยคุกคามและความเสี่ยงสูญพันธุ์



ขณะที่นายถวิล ศิริเทพ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ตำบลริมโขง เล่าว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับปลากระเบนแม่น้ำโขง ขนาดน้ำหนักกว่า 1.2 กิโลกรัมในพื้นที่บ้านดอนที่ ซึ่งปลากระเบนถือว่าเป็นปลาที่พบได้ยากและใกล้สูญพันธุ์ในแม่น้ำโขงปัจจุบัน เนื่องจากระบบนิเวศ แม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป


เช่นเดียวกับนายสมศักดิ์ นันทลักษณ์ ชาวประมงบ้านดอนที่ ยอมรับว่าปัจจุบันการทำประมงหาปลาในแม่น้ำโขงค่อนข้างยาก โดยเฉพาะช่วงน้ำขึ้น จะหาปลาไม่ค่อนได้ ชาวประมงพื้นบ้านต้องผันตัวไปทำอย่างอื่นเพื่อการมีรายได้ ทั้งนี้เห็นด้วยที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และสถาบันการศึกษาจะเข้ามาใช้พื้นที่บ้านดอนที่ ทำวิจัยเพาะพันธ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบน เพื่อเพิ่มจำนวนปลากระเบนให้อยู่แม่น้ำโขง


อนาคต ปลากระเบนลำน้ำโขง ส่องภัยคุกคามและความเสี่ยงสูญพันธุ์



อนาคต ปลากระเบนลำน้ำโขง ส่องภัยคุกคามและความเสี่ยงสูญพันธุ์



ปลากระเบนในแม่น้ำโขงเผชิญกับภัยคุกคามหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนประชากรปลากระเบนและถิ่นที่อยู่อาศัย ได้แก่


- การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง แบบไม่เป็นธรรมชาติจากการควบคุมระดับน้ำของเขื่อนแม่น้ำโขงในประเทศจีน ส่งผลต่อกระแสน้ำและรูปแบบการไหลของแม่น้ำโขง ซึ่งรบกวนวงจรชีวิตของปลากระเบนและปลาชนิดอื่น ๆ ที่พึ่งพาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตามธรรมชาติ สำหรับการอพยพ การวางไข่ และการหาอาหาร


- การกัดเซาะตลิ่งที่เกิดจากน้ำขึ้นลง ส่งผลต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบน ตลิ่งที่พังทลายทำลายพื้นที่ครก หรือวัง และริมฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งหากินและวางไข่ที่สำคัญ


- การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย จากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆในแม่น้ำโขง ทำลายโขดหิน แอ่งน้ำ และพื้นทราย ซึ่งเป็นลักษณะที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปลากระเบน เ


- การทำประมงที่ทำลายล้าง เช่น การใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ และแหล่งหากินของปลากระเบน


- มลพิษทางน้ำจากการเกษตร โรงงาน และชุมชน ส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง เป็นอันตรายต่อปลากระเบน โดยเฉพาะลูกปลาและปลาวัยอ่อน


- การล่าปลากระเบน เพื่อการค้าและบริโภค แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามจับปลากระเบน แต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ


- และภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่ออุณหภูมิและรูปแบบการตกตะกอนในแม่น้ำโขง กระทบแหล่งที่อยู่อาศัย อาหาร และวงจรชีวิตของปลากระเบน ทำให้จำนวนประชากรปลากระเบนในแม่น้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว 


สำหรับปลากระเบนเป็นสัตว์กินซาก มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของแม่น้ำโขง การลดลงของประชากรปลากระเบน ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร และความสมดุลของระบบนิเวศแม่น้ำโขงโดยรวมด้วยเช่นกัน



ข้อมูลและภาพ : กรกฎ ประทุมชาติภักดี ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.เชียงราย

ข่าวแนะนำ