รื้อโพงพางกลางอ่าวปากพนัง
เจ้าหน้าที่กรมประมง พร้อมทั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล.ภาค 2 นครศรีธรรมราช กวดขันการทำประมงผิดกฎหมาย โดยเปิดปฏิบัติการรื้อถอนโพงพางกลางอ่าวปากพนังต่อเนื่อง หลังชาวประมงพื้นบ้าน จี้เร่งดำเนินการ เพราะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เครื่องมือประมงปกติ และกีดขวางการเดินเรือ
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเล ปากพนัง นครศรีธรรมราช กองตรวจการประมง กรมประมง และ ศรชล. ภาค 2 นครศรีธรรมราช สนธิกำลังเจ้าหน้าที่นับสิบนายพร้อมด้วยเรือตรวจการณ์ ได้เปิดปฏิบัติการรื้อถอนเครื่องมือประมงผิดกฎหมายกลุ่มโพงพาง ซึ่งมีผู้ทำประมงได้ลักลอบเข้ามาปักทำประมงในหลายจุดอีกครั้ง หลังจากการปฏิบัติการครั้งใหญ่ เมื่อปี 2558 แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามลักลอบปักแนวโพงพางใหม่ และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น
โดยเจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังออกไปทำการประจำจุด ก่อนที่เข้ารื้อถอนแนวโพงพาง พบว่ามีกลุ่มเรือหางยาวเฝ้าสังเกตการณ์ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในระยะไกล แต่ไม่ได้มีการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำลายแนวตรวจยึดไม้ติ้วถ่างถุงอวน ทำให้ไม่สามารถนำกลับไปใช้การได้อีก
นายพงษ์ศักดิ์ นิธิกรกุล หัวหน้ากลุ่มควบคุมการทำประมง กองตรวจการประมง กรมประมง เปิดเผยว่า มีความจำเป็นในการต้องเร่งลดเครื่องมือประมงผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโพงพางในอ่าวปากพนังต้องเร่งรื้อถอนต่อไป หลังจากปี 2558 มีการลักลอบเข้ามาอีกต่อเนื่อง การบังคับใช้กฎหมายจึงมีความจำเป็นไม่ให้เครื่องมือเช่นนี้เกิดขึ้นขยายตัวมากขึ้น อยากร้องขอให้ใช้เครื่องมือที่ถูกกฎหมายเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร
ขณะที่ ชาวประมงอวนลอยที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงระบุว่า การทำประมงผิดกฎหมายในอ่าวทั้งลอบพับ เครื่องมือคราดหอยเถื่อน โพงพาง เครื่องมือพวกนี้ทำให้สัตว์น้ำทุกชนิดเข้าไปทั้งหมด ส่งผลกระทบแม้แต่เครื่องมือของชาวประมงอวนลอยขาดเสียหายไม่มีใครรับผิดชอบ อยากให้เจ้าหน้าที่เร่งรื้อให้หมด อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติให้ข้อมูลว่า การเร่งกวาดล้างเครื่องมือผิดกฎหมายจะส่งผลกระทบให้กับนายทุนที่อยู่เบื้องหลังที่ไม่ออกทุนให้กับกลุ่มชาวประมง ทำให้มีแนวโน้มของการใช้เครื่องมือถูกกฎหมายมากขึ้น
สำหรับพื้นที่อ่าวปากพนังถือเป็นแหล่งกำเนิดของสัตว์น้ำวัยก่อน สัตว์น้ำเศรษฐกิจของอ่าวไทย เช่น หอยแครง ซึ่งได้ชื่อว่ามีคุณภาพดีที่สุดในพื้นที่อ่าวไทย ปลาเศรษฐกิจชนิดต่างๆ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย ปลาทู และปลากระบอก เนื่องจากเป็นพื้นที่มีความสมบูรณ์ จากการถ่ายเทสารอาหารจากเทือกเขาหลวงสู่ลุ่มน้ำปากพนัง ก่อนไหลสู่ปากอ่าวที่ปลายแหลมตะลุมพุก หรือ อีกชื่อที่ถูกขนานนาม คือ “มดลูกแห่งอ่าวไทย”
ข่าวแนะนำ