เชียงใหม่เปิดภารกิจ ‘เจาะชั้นบรรยากาศ’ ระบายฝุ่น PM 2.5 - ควันพิษพ้นเมือง
หน่วยฝนหลวงเปิดภารกิจเจาะชั้นบรรยากาศ เร่งระบายฝุ่น PM 2.5 - ควันพิษเชียงใหม่ หลังวิกฤตต่อเนื่องนานสัปดาห์
วันนี้ ( 18 มี.ค. 67 )หมอกควันจากไฟป่ายังปกคลุมไปทั่วทั้งเมือง ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูงเกินมาตรฐานต่อเนื่องมานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ขณะที่สภาวะอากาศปิดไร้กระแสลมและยังไม่เกิดพายุฤดูร้อนขึ้นในพื้นที่ ส่งผลให้ฝุ่นละอองยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเที่ยงวันนี้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กค่าฝุ่น PM 2.5 จากการรายงานของศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบฝุ่น PM 2.5 สูงสุดที่บ้านหัวโท ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว 459 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
สถานการณ์ฝุ่นควันที่จากไฟป่าที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ตลอดทั้งวันนี้ ( 18 มี.ค. ) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ส่งเครื่องบินแบบ CN และ เครื่องบินแบบ CASA ขึ้นบินในภารกิจบรรเทาหมอกควันและลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ , อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และ บริเวณรอยต่อ อ.สามเงา จ.ตาก - อ.ลี้ จ.ลำพูน โดยจะมีการดัดแปรสภาพอากาศโดยใช้เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ ำและโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองที่สะสมออกไปได้
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 5 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ แพร่ จันทบุรี กาญจนบุรี และ สงขลา เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง การเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า รวมถึงบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ในพื้นที่ภาคเหนือตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ภายในสนามบินกองบิน 41 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ ปรับแผนการปฏิบัติภารกิจใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ ชนิด CN จำนวน 2 ลำ เครื่องบินขนาดกลาง ชนิด CASA จำนวน 3 ลำ เครื่องบินชนิด Super King Air จำนวน 1 ลำ ในภารกิจดัดแปรสภาพอากาศบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก บรรเทาปัญหาไฟป่า และบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยมีแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อให้มีฝนตกในพื้นที่ที่ต้องการ ช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันฝุ่นละอองและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเจาะช่องชั้นอากาศ เร่งกระบวนการทางธรรมชาติให้เกิดการหมุนเวียนของกระแสอากาศ ระบายฝุ่นควันออกไปให้ได้มากที่สุด
ข้อมูลจาก: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคเชียงใหม่
ภาพจาก: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคเชียงใหม่
ข่าวแนะนำ