TNN เชียงใหม่ค่าฝุ่น PM 2.5 วิกฤต! รมช.เกษตรฯ สั่งระดมเครื่องบินทำฝนหลวงช่วยบรรเทา

TNN

ภูมิภาค

เชียงใหม่ค่าฝุ่น PM 2.5 วิกฤต! รมช.เกษตรฯ สั่งระดมเครื่องบินทำฝนหลวงช่วยบรรเทา

เชียงใหม่ค่าฝุ่น PM 2.5 วิกฤต! รมช.เกษตรฯ สั่งระดมเครื่องบินทำฝนหลวงช่วยบรรเทา

เชียงใหม่ค่าฝุ่น PM 2.5 วิกฤต! รมช.เกษตรฯ สั่งระดมเครื่องบินทำฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาค่าฝุ่นละอองในพื้นที่

ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ ณ ห้องประชุมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ พร้อมเปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือยังอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ถึงระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) จึงได้สั่งการให้ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงเชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ดำเนินการตามแผนเร็วกว่ากำหนด ปรับแผนการปฏิบัติภารกิจ ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ ชนิด CN จำนวน 2 ลำ เครื่องบินขนาดกลาง ชนิด CASA จำนวน 3 ลำ เครื่องบินชนิด Super King Air จำนวน 1 ลำ ในภารกิจดัดแปรสภาพอากาศบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก บรรเทาปัญหาไฟป่า และบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 


ดร.ไชยา กล่าวว่า ตนในฐานะ รมช.ที่กำกับดูแล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้วางแผนติดตามสภาพอากาศป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และเห็นได้ว่าปัจจุบันค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของจังหวัดเชียงใหม่ที่พุ่งขึ้นอันดับ 1 ของโลก ส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้มาท่องเที่ยว ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต 


ซึ่งวันนี้ตนจะขึ้นเครื่องบินร่วมสังเกตการณ์ การบินปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศโดยเครื่องบินชนิด CN บรรจุน้ำ 1,500 ลิตร สเปรย์น้ำที่ระดับความสูง 9,500 ฟุต บินวนแบบก้นหอย รัศมีการบิน 5-7 NM หรือประมาณ 12.6 กิโลเมตร บริเวณ อ.ดอยสะเก็ด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยบรรเทาค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคพิเศษที่เรียกว่า “เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำและโปรยน้ำแข็งแห้ง” เพื่อเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองขึ้นต่อไป 


นอกจากนั้น ยังได้สั่งการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ต้องการน้ำสำหรับการเริ่มเพาะปลูก พร้อมให้การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในภารกิจดับไฟป่าบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 


ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง รวมจำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ แพร่ จันทบุรี กาญจนบุรี และสงขลา ระหว่างวันที่ 8 ม.ค. – 11 มี.ค. 2567 ใช้เทคนิคดัดแปรสภาพอากาศ จำนวน 51 วัน 148 เที่ยวบิน ช่วยเหลือ 15 จังหวัดภาคเหนือ ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจากข้อมูลตรวจวัดฝุ่นละอองในอากาศโดยเครื่องบิน Super King Air การใช้เทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน สามารถช่วยระบายฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 3 ไมครอน ได้ประมาณ 40-50% เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ไม่ได้ปฏิบัติการ





ข้อมูลจาก รัฐบาลไทย

ภาพจาก TNN ONLINE (แฟ้มภาพ)

ข่าวแนะนำ