“ตัดวงจรพฤติกรรมลอกเลียนแบบ” อะไรไม่ควรทำ? เมื่อเกิดเหตุความรุนแรง
“ตัดวงจรพฤติกรรมลอกเลียนแบบ” อะไรควรทำ-ไม่ควรทำเมื่อเกิดเหตุความรุนแรง ลดผลกระทบทางจิตใจผู้สูญเสีย
จากกรณีเมื่อช่วงเย็นของเมื่อวันที่ ( 3 ต.ค. 66) เกิดเหตุความรุนแรงในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ และ เสียชีวิต หลายราย ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ใช่ “ครั้งแรก” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้ใครหลายคนตั้งคำถามว่า เราจะป้องกันการเกิดเหตุกราดยิง หรือ ความรุนแรงอื่นๆอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียในวงกว้างซ้ำซ้อนอีกครั้ง
ล่าสุด คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกคำแนะนำเพื่อตัดวงจรพฤติกรรมการลอกเลียนแบบความรุนแรง เพื่อลดผลกระทบทางจิตใจต่อผู้เกี่ยวข้องและสังคมโดยรวม "สิ่งที่ไม่ควรทำ และ สิ่งที่ควรทำ" ไว้ดังต่อไปนี้
ไม่ควรทำ
- การเปิดเผยชื่อ ภาพ เครื่องแบบ อาวุธ เรื่องราวส่วนตัว ประวัติ และ แรงจูงใจในการก่อเหตุของผู้กระทำผิด
- การสื่อความในลักษณะที่ทำให้ผู้ก่อเหตุ ดูเท่ ดูเก่ง เช่น ใช้คำบรรยายพฤติกรรม ของผู้ก่อเหตุว่า “อุกอาจ” (อาจดูเท่ในสายตาของผู้ที่นิยมความรุนแรง)
- การรายงานเน้นจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ เปรียบเทียบว่าครั้งนี้ เสียชีวิต บาดเจ็บกี่คน มากกว่าหรือน้อยกว่าครั้งก่อนเท่าไร
สิ่งที่ควรทำ
- ไม่เอ่ยชื่อ ไม่ให้ตัวตนคนร้าย
- นำเสนอเรื่องราวของผู้ประสบเหตุแทน เพื่อสร้างตัวตนแบบทางบวกว่าคนเหล่านี้ ผ่านเรื่องเลวร้ายร่วมกันมาได้
- เล่าเรื่องราวของผู้ที่แจ้งเหตุก่อน ผู้ที่ตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น
- อัปเดตเหตุการณ์ตามจริง ตรงไปตรงมา ไม่เร้าอารมณ์
- เน้นเรื่องการป้องกันและการเยียวยา
เราจะเยียวยาจิตใจผู้สูญเสียจากเหตุรุนแรงอย่างไร?
ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สิ่งที่ควรทำในการเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสีย คือ การให้ข้อมูลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แล้ว เราจะมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร เช่น ความกลัว ความรู้สึกผิด เพื่อที่เราจะตอบสนองต่อผู้สูญเสีย อย่างเหมาะสม เช่น ไม่ซ้ำเติมผู้ประสบเหตุด้วยการถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในเวลาที่เขาไม่พร้อม
ขั้นต่อมาคือสื่อสาร ระบายออกมา เพื่อบรรเทาความรู้สึกให้จางลงเมื่อพร้อม กับคนที่เราไว้วางใจ มันจะช่วยให้เราตระหนักและเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้นจากการพูดคุยกับคนอื่น
สำหรับ ผู้ที่ประสบเหตุความรุนแรงและไม่ยังไม่สามารถดึงตัวเองจากประสบการณ์ที่เลวร้ายได้นั้น ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ นักจิตวิทยาพัฒนาการ ได้ให้ข้อแนะนำไว้ว่า การดูแลคนใกล้ชิดสามารถทำได้ด้วยการแสดงความเข้าใจ เพื่อสื่อว่ายังอยู่ข้าง ๆ และพร้อมที่จะรับฟัง เมื่อเขาพร้อมที่จะสื่อสาร ผลกระทบทางจิตใจต่อเหตุการณ์ร้าย ๆ สามารถติดอยู่ในใจเราได้ยาวนาน 3-6 เดือน ถ้าใครผ่าน 6 เดือนไปแล้ว ยังคงรู้สึกกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ยังกลัวว่าจะมีใครมาทำร้าย ก็อาจจะต้องรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
สำหรับเด็กที่ยังสื่อสารไม่ได้ดีนัก พ่อแม่ต้องคอยสังเกตว่าเขามีพฤติกรรมถดถอยหรือไม่ เช่น จากที่ไม่ฉี่รดที่นอนแล้ว กลับมาฉี่รดที่นอน ที่เคยรักดูแลน้องกลับมาแกล้งน้องกัดน้อง ถ้าพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ควรพาไปพบจิตแพทย์เด็กหรือนักจิตวิทยาเด็ก
ครอบครัวจะป้องกันลูกอย่างไร ไม่ให้ออกไปก่อ “อาชญากรรม”
ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ข้อแนะนำเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องการกับเกิดเหตุอาชญากรรมหรือการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ข้อหนึ่งคือการที่บุคคลเป็นผู้ที่ไม่ได้รับความสนใจ ไม่มีตัวตน ซึ่งการไม่ได้รับความสนใจนั้นเริ่มขึ้นจากในบ้าน เขาจึงไปหาที่นอกบ้าน เราอาจเคยพบเจอเด็กที่ยอมให้ตัวเองก่อปัญหาที่โรงเรียน ไม่สนใจเรียน แกล้งเพื่อน หรือแม้แต่ทำให้ตัวเองโดนจับขึ้นโรงพัก เพราะนั่นเป็นเวลาเดียวที่เด็กจะได้เจอพ่อแม่พร้อมหน้าพร้อมตา
แสดงให้เห็นว่าเด็กต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่เสมอ ไม่ได้ทางบวก ทางลบก็เอา เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเข้ามาหาเรา เราต้องละวางอุปกรณ์สื่อสารและเรื่องอื่น ๆ และหันไปรับฟังเขา ไม่ใช่ให้ความสนใจเมื่อเฉพาะเวลาที่เขาร้องไห้ หกล้ม หรือถูกเรียกพบที่โรงเรียน
ทุกคนมีความกดดัน ความเครียด หากเพียงหาวิธี เรียนรู้ การรับมือในรูปแบบที่เหมาะสม โดยสามารถเริ่มเรียนรู้ได้จาก ครอบครัว หรือ Family Functioning ซึ่งผู้เป็นพ่อแม่ต้องหาวิธีเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีการควบคุมตนเองหรือ Self-control โดยมีการฝึกควบคุมอารมณ์ คุมตนเอง และสามารถที่จะรับมือกับวิธีแก้ปัญหาได้อีกด้วย
ข้อมูลจาก : คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพจาก : AFP