ปี 2567 บริษัทญี่ปุ่นล้มละลาย 10,000 แห่ง

สรุปข่าว

บริษัทวิจัย “โตเกียว โชโก” ของญี่ปุ่น ระบุว่า จำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่ล้มละลายในปี 2567 มากกว่า 10,000 แห่ง นับเป็นครั้งแรกในรอบ11 ปี เนื่องจากภาคธุรกิจเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก และราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินเยนโดยจำนวนบริษัทที่ล้มละลายในปี 2567 อยู่ที่ 10,006 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ในจำนวนนี้มีบริษัท 10,004 แห่งที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 2.34 ล้านล้านเยน หรือราว 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 2.4 จากปี 2566


ข้อมูลพบว่า SMEs เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการยุติมาตรการผ่อนผันภาษีพิเศษที่รัฐบาลประกาศใช้ในช่วงวิกฤตโควิด ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น 


เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 37 ปี ในช่วงฤดูร้อนกลางปีที่แล้ว ผลักให้ต้นทุนการนำเข้าของภาคธุรกิจพุ่งสูงขึ้น เมื่อประกอบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ย่ำแย่ลง เนื่องจากประชากรสูงอายุและกฎระเบียบในการทำงานล่วงเวลาที่เข้มงวด สร้างแรงกดดันให้กับหลายอุตสาหกรรม อาทิ ก่อสร้าง และภาคบริการ


เมื่อแยกย่อยรายอุตสาหกรรม พบว่า ภาคบริการที่รวมถึงร้านอาหาร มีการยื่นล้มละลายจำนวนมากสุด 3,329 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 นับเป็นการเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 3,000 แห่งครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2533 ตามด้วยอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากการปฏิรูปเวลาการทำงาน โดยมียอดล้มละลาย 1,924 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6


สำหรับการล้มละลายที่เกิดจากปัญหาขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 159 ราย เป็น 289 ราย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด เช่นเดียวกับการล้มละลายเนื่องจากไม่สามารถหาผู้มาดูแลกิจการได้มีจำนวน 462 ราย นับเป็นสถิติสูงสุด 


ส่วนการล้มละลายที่เกิดจากภาระทางการเงินเรื่องประกันสังคมและภาษี เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเป็น 176 ราย จาก 92 ราย

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

เศรษฐกิจ insight
โตเกียว โชโก
ล้มละลาย
อุตสาหกรรมก่อสร้าง
ญี่ปุ่น