สรุปข่าว
ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Monetary Policy Forum 4/2567 วันนี้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของ ประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
ดังนั้น ภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น นโยบายการเงินต้องสามารถพร้อมรองรับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ทันทวงที หรือ "robust policy" ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งสุดท้ายของปีที่ผ่าน (18 ธ.ค.67) ถือเป็น "robust policy" โดยหากไม่เกิดเหตุการณ์ผันผวนรุนแรง การคงดอกเบี้ยนโยบายบ่งชี้ถึงจุดยืนของนโยบายการเงินในระดับที่เป็นกลางสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจเงินเฟ้อ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ขณะเดียวกันไม่ได้ปิดโอกาสการปรับดอกเบี้ยนโยบายลดลงในอนาคต หากมีเหตุการณ์ความไม่แน่นอนที่รุนแรงกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ
ในทางตรงกันข้ามหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง จะทำให้ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินลดลง หรือ policy space แคบลงไม่เพียงพอรองรับเหตุการณ์ผันผวนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินอาจปรับด้อยลงในระยะยาว
นอกจากนี้การศึกษาของธปท. พบว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลลดลงภายใต้ความไม่แน่นอนสูง หรือประโยชน์ที่ได้จากอัตราดอกเบี้ยลดลงค่อนข้างจำกัด เนื่องจากธุรกิจจะชะลอการจ้างงานและการลงทุน เพราะกังวลในช่วงที่ความไม่แน่นอนยังไม่คลี่คลาย
อย่างไรก็ดี การลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.ในเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มีส่วนช่วยลดภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง และธปท.กำลังติดตามความคืบหน้าโครงการ "เราสู้ คุณช่วย" ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 3 แสนบัญชีว่าจะช่วยลดภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบางได้มากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ ธปท. ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 2.9 และเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 อยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ร้อยละ 1-3
ที่มา TNN
ที่มาข้อมูล : -