TNN “ทรัมป์” ขู่ภาษี BRICS กระทบชิ่งอาเซียน

TNN

เศรษฐกิจ

“ทรัมป์” ขู่ภาษี BRICS กระทบชิ่งอาเซียน

“ทรัมป์” เตือนเก็บภาษีกลุ่ม BRICS ร้อยละ 100 หากหย่าขาดจากดอลลาร์สหรัฐ หันไปใช้เงินสกุลอื่นแทน ส่งสัญญาณคงอิทธิพลในเวทีการค้าโลก ขณะชาติสมาชิกอาเซียนเสี่ยงถูกลูกหลงความขัดแย้ง

“โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตือนว่ามีแผนจะเก็บภาษีร้อยละ 100 จากสมาชิกกลุ่มบริกส์ (BRICS) รวมทั้งประเทศเหล่านี้อาจต้องบอกลาการค้าขายกับสหรัฐฯ หากพยายามสร้างสกุลเงินใหม่ที่เป็นคู่แข่งกับดอลลาร์สหรัฐ หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นเพื่อแทนที่ดอลลาร์สหรัฐในฐานะสื่อกลางสำหรับแลกเปลี่ยนของโลก ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวหลังประกาศเก็บภาษีร้อยละ 25 จากเม็กซิโกและแคนาดา รวมทั้งขึ้นภาษีร้อยละ 10 สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน 


แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะมองตรงกันว่า การเก็บภาษีศุลกากรร้อยละ 100 ของสหรัฐฯ ต่อสินค้าที่นำเข้าจากกลุ่มประเทศ BRICS เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นจริงก็จะไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ เพราะภาษีศุลกากรดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนสินค้าจากประเทศสมาชิก BRICS เพิ่มขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและสินค้าราคาแพงขึ้น


กลุ่ม BRICS ก่อตั้งเมื่อปี 2552 เริ่มจาก 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย จีน และอินเดีย ก่อนที่แอฟริกาใต้จะเข้าร่วมในปีต่อมา และ BRICS ก็มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกมาตลอดนับจากนั้น จนกระทั่งปี 2566 BRICS เริ่มประกาศรับสมาชิกใหม่ภายใต้กลไก “บริกส์ พลัส” (BRICS Plus) ซึ่งมี 4 ประเทศเข้าร่วมเพิ่มเติม ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ส่วนซาอุดีอาระเบียตอบรับ แต่ชะลอกระบวนการเข้าร่วมอย่างเป็นทางการออกไป // ขณะที่ในการประชุมสุดยอดครั้งล่าสุดที่เมืองคาซานของรัสเซียเมื่อเดือนตุลาคม กลุ่มBRICSประกาศเพิ่ม 13 ประเทศเป็นประเทศพันธมิตรใหม่อย่างเป็นทางการ ที่ไม่ใช่สมาชิกเต็มตัว ประกอบด้วยแอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ไนจีเรีย ไทย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน และเวียดนาม


การขยายกลุ่มให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นการเพิ่มบทบาทในเวทีโลก เพราะสมาชิกที่กระจายในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างกรณีของอียิปต์และเอธิโอเปียช่วยเพิ่มเสียงของภูมิภาคแอฟริกากรณีของซาอุดีอาระเบียUAE และอิหร่าน นับเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในตะวันออกกลาง รวมทั้งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ// ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS มีจำนวนประชากรคิดเป็นร้อยละ 45.9 ของทั้งโลก โดยอินเดียกับจีนมีจำนวนประชากรมากสุดในโลก ส่วน GDP มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของ GDP โลก ตามการประเมินของธนาคารโลกเมื่อปี 2566 สัดส่วนการผลิตน้ำมันอยู่ที่ร้อยละ 42.5 ของทั้งโลก และการส่งออกสินค้าอยู่ที่ร้อยละ 24.8 ของทั้งโลกในปี 2565


นอกจากนี้ กลุ่ม BRICS ยังมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางเลือกใหม่ ๆ ทดแทนสถาบันระหว่างประเทศที่ถูกครอบงำจากชาติตะวันตก อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกรวมถึงลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินหลักสำหรับทำธุรกรรมต่าง ๆโดยผลักดันแนวคิดสร้างระบบรับส่งข้อความทางการเงินระหว่างประเทศคล้ายกับ “สวิฟต์” (SWIFT) ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก และทางเลือกในการใช้สกุลเงินของประเทศในกลุ่มสำหรับการค้าการลงทุน เพื่อยุติการครอบงำของดอลลาร์สหรัฐ


เงินดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นศูนย์กลางของแนวรบล่าสุด เนื่องจากมีบทบาทสำคัญสุดสำหรับการค้าระหว่างประเทศทำให้สหรัฐฯ มีข้อได้เปรียบหลายเรื่องทั้งต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลกลางที่ต่ำและอิทธิพลด้านภูมิรัฐศาสตร์ในระดับโลกซึ่งรวมถึงความสามารถในการคว่ำบาตรประเทศอื่นๆ และจำกัดการเข้าถึงการค้าและทุนของประเทศเหล่านั้น


ข้อมูลจาก “แอตแลนติก เคาน์ซิล” ระบุว่า ดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก โดยมีสัดส่วนราวร้อยละ 58 ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลก ตามด้วยเงินยูโรที่มีสัดส่วนราวร้อยละ 20 และหยวนของจีนมีสัดส่วนราวร้อยละ 2 แต่สัดส่วนของดอลลาร์ก็ลดลงจากร้อยละ 67 ในปี 2543 // สำหรับสัดส่วนของดอลลาร์ที่ใช้ในการทำธุรกรรมส่งออกสินค้าอยู่ที่ร้อยละ 54 ของทั้งโลก ตามด้วยยูโรมีสัดส่วนร้อยละ 30 ส่วนหยวนอยู่ที่ร้อยละ 4 นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้สำหรับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันและทองคำ // ขณะที่สัดส่วนการใช้เงินดอลลาร์สำหรับธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 88 รองลงมาคือยูโร ร้อยละ 31 และหยวนที่ร้อยละ 7


อย่างไรก็ตาม ตามการประเมินของIMFดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นร้อยละ 74 ของการทำธุรกรรมส่งออกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในแง่ของการค้าระหว่างประเทศ


คำเตือนของ “ทรัมป์” ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ที่รัสเซียเมื่อเดือนตุลาคม ซึ่งเหล่าสมาชิกหารือกันเกี่ยวกับการส่งเสริมทำธุรกรรมที่ไม่ใช่ดอลลาร์และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสกุลเงินท้องถิ่น โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระหว่างจีนและรัสเซีย ท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้นเมื่อปี 2565เช่นเดียวกับอินเดียและรัสเซียก็ทำธุรกรรมการค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มขึ้น


แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีความพยายามอย่างเป็นทางการในการใช้สกุลเงินร่วมกันทั้งกลุ่ม หรือก่อตั้งกลุ่มการเงินเฉพาะถึงแม้จีนและอินเดียจะเป็น 2 ประเทศที่มีประชากรมากสุดในโลก แต่สกุลเงินของทั้ง 2 ประเทศไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายนอกพรมแดน


ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่า คำขู่ของ “ทรัมป์” ที่จะจัดการBRICS หากหย่าขาดจากดอลลาร์สหรัฐฯ เกิดขึ้นเร็วเกินไป และทำให้สหรัฐฯ ดูอ่อนแอเพราะการหารือกันของ BRICS ในเรื่องนี้ยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างมากพอจะคุกคามดอลลาร์ ในทางกลับกันจะกลายเป็นสะท้อนความไม่มั่นใจต่อดอลลาร์ และยกสถานะของแนวคิดยุติดอลลาร์ครองโลกขึ้นโดดเด่นขึ้นมา 


“มาร์ก ไวน์สต็อก” ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศและอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพซในนิวยอร์ก ระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญในขณะนี้ เพราะแนวคิดของสมาชิกกลุ่ม BRICS ที่จะสร้างสกุลเงินทางเลือกเพื่อทดแทนดอลลาร์สหรัฐยังไม่น่าเป็นไปได้ในระยะสั้นหรือระยะกลางขณะเดียวกัน สมาชิกกลุ่ม BRICS จะต้องพยายามอย่างหนักที่จะสร้างสกุลเงินที่ใช้งานร่วมกันได้จริง ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งและค่อนข้างมีเสถียรภาพ ประกอบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกและคู่ค้าต่อหนี้ของสหรัฐฯ 


แม้กลุ่ม BRICS จะมีผลประโยชน์ร่วมกันบางเรื่อง แต่การรวมกลุ่มภายใต้สกุลเงินเดียวกันอาจก่อปัญหาทางการเมืองและความซับซ้อนทางเทคนิคตามมาเนื่องจากระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันภายใน 9 ประเทศสมาชิกสำหรับทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้มากสุดคือการสร้างสกุลเงินร่วมสำหรับใช้ด้านการค้าโดยอ้างอิงตามตะกร้าสกุลเงินหรือสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ทองคำหรือน้ำมันซึ่งคล้ายกับสิทธิพิเศษในการถอนเงิน (SDR) ของ IMF


คำขู่ของว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้กระทบแค่สมาชิกกลุ่ม BRICS เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่อาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากความร่วมมือกับประเทศกลุ่ม BRICSซึ่ง 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ต่างเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ BRICS รวมถึงได้ยื่นสมัครเข้าร่วมกลุ่มเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและทางเลือกท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์


เซาท์ไชนา มอร์นิ่ง โพสต์ อ้างความเห็นของ “ประวิตาบีร์ ซักกู” อาจารย์จากวิทยาลัยศรีคุรุโกบินด์ซิงห์ ในอินเดีย ที่มองว่า คำเตือนของ “ทรัมป์” สะท้อนถึงความจำเป็นที่ประเทศในอาเซียนจะต้องชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICSอย่างเต็มรูปแบบกับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ 


เขาแนะว่า อาเซียนน่าจะมีส่วนร่วมกับกลุ่มประเทศBRICS ในฐานะพันธมิตร ขณะเดียวกันก็รักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแนวทางที่สมดุลในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเพิ่มความหลากหลายทางการค้า


ในปี 2566 การค้า 2 ทางระหว่างสหรัฐฯ กับ 10 ประเทศอาเซียน มีมูลค่าแตะ 3.959 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้สหรัฐฯ เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รายใหญ่สุดที่ไหลเข้าอาเซียนในปี 2566 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 7.44 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 32.4 ของเม็ดเงิน FDI ที่ไหลเข้าอาเซียนทั้งหมด


ที่มา TNN


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง