TNN จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดศก.โลก-ไทยปี 68

TNN

เศรษฐกิจ

จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดศก.โลก-ไทยปี 68

“กอบศักดิ์” แนะจับตา 3 ปัจจัยลบกระทบเศรษฐกิจโลกและไทยปี 2568 "เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ - ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ -พิษเศรษฐกิจจีน" ชี้ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางน่ากังวลมากที่สุด หวั่นขยายเป็นวงกว้าง

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 น่าจะขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 3  ส่วนในปี 2568 นั้นหากรัฐบาลคาดหวังจะเห็นการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 3 ทางภาคเอกชนก็จะใช้ตัวเลขดังกล่าวเป็นฐานประเมินการเติบโตในปีเดียวกันราว 1.5 เท่า หรือประมาณร้อยละ 4.5 


อย่างไรก็ตาม มี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวล เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี2568  ได้แก่  1.การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากผู้สมัครฯทั้ง 2 คนต่างก็มีนโยบายที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เชื่อว่าจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจโลก และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตามมา 


2.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์  หรือความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางบางกลุ่ม/ประเทศ ที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมียังคาดการณ์ไม่ได้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะยุติเมื่อใด หรืออาจขยายผลมากกว่าที่เป็นอยู่ 


และ 3.ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจาก ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเงินและการธนาคารของจีน ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจีนจะออกมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผ่านมาตรการต่างๆ หลายมาตรการ แต่การแก้ไขปัญหายังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้กำลังซื้อของคนจีนเหลือน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน โดยหนึ่งในนั้น มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย


ดร.กอบศักดิ์ระบุว่า ทั้ง 3 ปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก แต่ที่น่ากังวลใจมากที่สุด และเชื่อว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยมากที่สุดก็คือ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจขยายวงกว้างเป็นสงคราม  เพราะจะส่งผลกระทบต่อการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะปัญหาราคาน้ำมันที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในภาคการผลิตและภาคการขนส่ง รวมถึงราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้น


สำหรับปัจจัยลบภายในประเทศที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งแม้รัฐบาลและธนาคารของรัฐ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ จะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยากันไปบ้างแล้ว แต่เนื่องจากโครงสร้างของปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนสะสมมานานแก้ไขไม่ได้ง่ายๆ ในเวลาที่รวดเร็ว  จึงอาจเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจในระยะต่อไป 


ที่มา TNN


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง