TNN "ดิ ไอคอน" กับมุมอินฟลูเอนเซอร์อวดรวย l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

"ดิ ไอคอน" กับมุมอินฟลูเอนเซอร์อวดรวย l การตลาดเงินล้าน

ตลาดครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ เป็นเทรนด์ของโลกที่กำลังเติบโต ขณะเดียวมีมุมมองต่อกรณี "ดิ ไอคอน ซึ่งมักจะอวดรวย และนำไปสู่วัตถุประสงค์บางอย่าง ไม่อยากให้ด่วนเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า อินฟลูเอนเซอร์

ภาพรวมของของอุตสาหกรรม ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ ในประเทศ ข้อมูลจาก บริษัท เทลสกอร์ จำกัด พบว่าอุตสาหกรรมนี้ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ปัจจุบัน มีกลุ่มคนทำงานด้านคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และ อินฟลูเอนเซอร์ กว่า 9 ล้านคน แบ่งเป็นครีเอเตอร์แบบ ฟูล ไทม์ ทำเป็นรายได้หลัก มีจำนวนกว่า 2 ล้านคน และส่วนที่เหลือ เป็น พาร์ท ไทม์ เช่น กลุ่ม ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์ ทื่มีผู้ติดตามในช่วง 1,000-20,000 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ คาดว่ามีส่วนสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในปี 2567 เป็นมูลค่ากว่า 45,000 ล้านบาท

ส่วน คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลกมีกว่า 200 ล้านคน ซึ่งขนาดของตลาด มีคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 ล้าน 5 แสน ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตถึง 16 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030 ซึ่งตัวเลขนี้ ยังไม่นับรวมที่จีน

คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง เทลสกอร์ กล่าวว่า การใช้โซเชียล มีเดีย ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในประเทศไทยมากถึง 50 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71.5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 55 ของผู้บริโภคชี้ว่า โปรโมชันและส่วนลดจากอินฟลูเอนเซอร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาติดตามครีเอเตอร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ ได้กลายเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับคนไทย

เห็นได้จาก จากปรากฎการณ์ของน้อง หมีเนย รวมถึง น้องหมูเด้ง ที่โด่งดังไปทั่วโลก สามารถดึงเม็ดเงินมหาศาลให้กับภาคการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยอยู่ในภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัว และต้องการคอนเทนต์ที่มอบความบันเทิงให้กับตนเอง และด้วยปรากฏการณ์นี้เอง ได้ชี้นำเทรนด์การทำคอนเทต์ของปีหน้า หรือปี 2568 อีกด้วย จึงยิ่งเพิ่มความท้าทายให้กับคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน อินฟลูเอนเซอร์หลายคนก็ผันตัวมาเป็นแม่ค้าออนไลน์ด้วย จึงต้องสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีความสนุก แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้อง และโดนใจผู้ชมนำไปสู่การปิดการขายได้

นอกจากปัจจัยด้านการนำเสนอเนื้อหาที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมายแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่จะสร้างรายได้ให้กับอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น คือ การเกิดแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ดังนั้น ครีเอเตอร์ ต้องก้าวให้ทัน เพราะแต่ละแพลตฟอร์มจะจับกลุ่มผู้บริโภคต่างกัน ปัจจุบัน ครีเอเตอร์ถูกหลอกเยอะมาก เกี่ยวกับการรีวิวสินค้า ดังนั้น ครีเอเตอร์ ควรหาความรู้ด้านกลไกเศรษฐศาสตร์ เพื่อเข้าใจในระบบเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยงในการถูกหลอกให้รีวิวสินค้า หรือขายสินค้าที่ให้ค่าตอบแทนสูงผิดปกติ 

ส่วนกรณีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ปที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับบุคคลที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ที่มักจะอวดรวย สร้างตัวตนและนำไปสู่วัตถุประสงค์บางอย่าง คุณสุวิตา ให้ความเห็นว่า นั่นเป็นวิธีการที่มีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง และไม่อยากให้ด่วนเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า อินฟลูเอนเซอร์ เพราะเป็นแค่คนในโลกโซเชียลมีเดีย เท่านั้น แม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาพใหญ่ของอุตสาหกรรม แต่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายควรออกมาร่วมมือกันในการเรียกศรัทธาให้กลับคืนมา แต่การจะเรียกศรัทธาให้กลับคืนมา ครีเอเตอร์จะทำฝ่ายเดียวคงไม่เป็นผล ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งแพลตฟอร์ม และหน่วยงานรัฐ จะควรต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง