TNN ญี่ปุ่นข้าวแพง ซูซิขายดี แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

TNN

เศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นข้าวแพง ซูซิขายดี แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

ญี่ปุ่นข้าวแพง ซูซิขายดี แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

ราคาข้าวในญี่ปุ่นสูงขึ้นหลังเผชิญภาวะขาดแคลนครั้งรุนแรงในรอบ 3 ทศวรรษ ท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้าย นักท่องเที่ยวแห่กินอาหารญี่ปุ่น และผู้คนซื้อข้าวตุนช่วงมรสุม แต่นี่เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ปัญหาใหญ่กว่านั้นมาจากนโยบายควบคุมปริมาณการผลิตที่ใช้มายาวนาน

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาขาดแคลนข้าวครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ปี 2536 โดยปริมาณข้าวไม่เพียงพอจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต และต้องจำกัดการซื้อคนละ 1 ถุง เนื่องจากความต้องการบริโภคพุ่งสูงสวนทางสต็อกข้าวที่ลดลง ส่งผลให้ราคาข้าวขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ราคาข้าวน้ำหนักถุงละ 5 กิโลกรัมที่ซื้อขายในกรุงโตเกียวเมื่อเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 2,871 เยน หรือราว 20 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนราคาข้าวกระสอบใหญ่ 60 กิโลกรัม อยู่ที่ 16,133 เยน หรือราว 112.67 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากเดือนกรกฎาคม และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 นับตั้งแต่ต้นปีนี้


ทั้งนี้ ข้าวที่ปลูกในญี่ปุ่นจะถูกสหกรณ์การเกษตรแห่งญี่ปุ่นรวบรวมจากเกษตรกร และจำหน่ายผ่านผู้ค้าส่งเพื่อไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และลูกค้ารายอื่น ๆ ราคาข้าวที่สหกรณ์ขายให้กับผู้ค้าส่งจะมีการปรับตามสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างในเดือนกรกฎาคม สหกรณ์ฯ ได้ปรับขึ้นราคาข้าวให้กับเกษตรกรราวร้อยละ 20-40


ข้าวเป็นวัตถุดิบสำคัญในเมนูอาหารชื่อดังของญี่ปุ่น ตั้งแต่ซูชิ ข้าวปั้น ไปจนข้าวหน้าต่าง ๆ ปัญหาเรื่องข้าวจึงมีความสำคัญมาก แม้จะคาดการณ์กันว่าข้าวใหม่จากฤดูเก็บเกี่ยวปีนี้ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลน โดยเฉพาะในเดือนกันยายน ซึ่งจะมีข้าวร้อยละ 40 ของทั้งหมดเข้าสู่ตลาด แต่ราคายังคงขยับขึ้น เนื่องจากปริมาณสำรองข้าวในเชิงพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำมากทำให้มีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะเผชิญกับราคาข้าวพุ่งสูงไปจนถึงเดือนตุลาคม 


ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของญี่ปุ่น ระบุว่า เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ปริมาณข้าวสำรองเชิงพาณิชย์ลดลงอยู่ที่ระดับ 1.56 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี นับตั้งแต่กระทรวงฯ เริ่มเก็บข้อมูลเรื่องนี้ในปี 2542 ทั้งบรรดาผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกจะใช้ตัวเลขนี้สำหรับการประเมินความสมดุลของความต้องการบริโภคกับปริมาณผลผลิตในปีหน้า


ขณะที่ปริมาณสต็อกข้าวส่งสัญญาณตึงตัวมากขึ้นในปีหน้า โดยกระทรวงฯ ประเมินว่า ผลผลิตข้าวในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 6.69 ล้านตัน แต่การบริโภคมีแนวโน้มจะแตะ 6.73 ล้านตัน ระหว่างเดือนกรกฎาคม ปี 2567 ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2568 


มีหลายสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นเผชิญภาวะขาดแคลนข้าว ได้แก่ 1.ปริมาณการผลิตข้าวสำหรับเป็นอาหารในญี่ปุ่นลดลง เนื่องจากชาวนาบางส่วนถึงวัยเกษียณและเสียชีวิต ขณะที่มีคนหนุ่มสาวน้อยลงที่อยากทำอาชีพนี้ 2.ปัญหาคลื่นความร้อนและภัยแล้งในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วส่งผลกระทบต่อผลผลิต 3.ชาวญี่ปุ่นซื้อข้าวตุนไว้รับมือฤดูไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหว 4.การที่ชาวต่างชาติแห่ท่องเที่ยวและนิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ 5.นโยบายควบคุมการผลิตข้าวของญี่ปุ่นที่ทำให้ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอ


จริง ๆ แล้วปัญหาขาดแคลนข้าวไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะปริมาณผลผลิตข้าวในปี 2566 ก็อยู่ในระดับทรงตัว ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ พบว่า ดัชนีการผลิตข้าวของญี่ปุ่นในปี 2566 อยู่ที่ 101 ซึ่งระดับ 101 ถึง 99 ถือเป็นการเก็บเกี่ยวที่อยู่ในระดับค่าเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณผลผลิตข้าวจะอยู่ในเกณฑ์ แต่คุณภาพที่ได้ไม่ถึงมาตรฐานเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดทำให้ข้าวที่เก็บเกี่ยวในปีที่แล้วเพียงร้อยละ 59.6 ที่ผ่านมาตรฐานคุณภาพสูงสุด และการลดลงดังกล่าวส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้น 


ราคาข้าวที่แพงขึ้นและความกังวลว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็ส่งผลต่อการซื้อตุนอีกด้วย ประกอบกับเข้าสู่ฤดูมรสุมและแผ่นดินไหวก็ทำให้ชาวญี่ปุ่นซื้อข้าวและอาหารตุนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาข้าวที่สูงขึ้นส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น โดยในเดือนสิงหาคม อัตราเงินเฟ้อแตะที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากต้นทุนพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น


นอกจากนี้ ความต้องการข้าวสำหรับรับประทานที่เพิ่มขึ้นยังเป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปเยือนญี่ปุ่น ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้น กระทรวงเกษตรฯ ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เยือนญี่ปุ่นส่งผลให้มีความต้องการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสมมติฐานที่นักท่องเที่ยวแต่ละคนจะกินข้าว 78 กรัมต่อมื้อ และกินข้าว 2 มื้อต่อวัน คาดว่าความต้องการบริโภคข้าวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นจาก 19,000 ตัน ระหว่างเดือนกรกฎาคม ปี 2565 ถึงมิถุนายน ปี 2566 เป็น 51,000 ตัน ระหว่างเดือนกรกฎาคม ปี 2566 ถึงมิถุนายน ปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 31,000 ตัน


แต่ “คาซูฮิโตะ ยามาชิตะ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ “แคนนอน อินสติติวต์ ฟอร์ โกลบอล สตัดดีส์” ระบุกับหนังสือพิมพ์ “ไมนิจิ ชิมบุน” ว่า แม้จะมีนักท่องเที่ยวราว 3 ล้านคนเยือนญี่ปุ่นทุกเดือน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และกินข้าวเป็นอาหารเช้า กลางวัน เย็น เช่นเดียวกับคนญี่ปุ่นหลาย ๆ คน การบริโภคข้าวของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.5 ของการบริโภคทั้งหมด และในความเป็นจริงมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มากที่กินข้าวทั้ง 3 มื้อ 


ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (JNTO) ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนญี่ปุ่นทำสถิติใหม่ที่ 17.8 ล้านคน มากกว่าสถิติเดิมราว 1 ล้านคน จาก 16.63 ล้านคน ในช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตโควิดทำให้ต้องปิดประเทศ  สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 3.3 ล้านคน มากสุดทำสถิติใหม่ และเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 2.9 ล้านคน


ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่า ปัญหาสภาพอากาศ การกักตุน และการบริโภคที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเป็นเพียงปัจจัยรอง แต่ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อปัญหาเรื่องข้าวมาจากนโยบายควบคุมการผลิตของภาครัฐที่ใช้มายาวนาน 


การผลิตข้าวของญี่ปุ่นลดลงตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1960 เนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชผลอื่น เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง เพื่อรองรับการบริโภคอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ข้าว อาทิ ราเมน ขนมปัง ประกอบกับจำนวนประชากรลดลง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงใช้นโยบายลดพื้นที่เพาะปลูกข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวมีจำกัด ราคาจึงสูง รวมถึงรัฐบาลสนับสนุนเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรที่หันไปปลูกพืชชนิดอื่น ซึ่งญี่ปุ่นใช้นโยบายนี้มา 50 ปีแล้ว ไม่มีประเทศใดที่ใช้นโยบายนี้นานเท่าญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่เคยใช้นโยบายแบบเดียวกันก็ใช้เพียงชั่วคราวเพื่อพยุงราคากรณีที่มีพืชผลล้นเกิน


“ยามาชิตะ” อธิบายว่า ชาวญี่ปุ่นบริโภคข้าวลดลงต่อเนื่อง และหันมาบริโภคขนมปัง พาสต้า และอาหารอื่น ๆ เพิ่มขึ้น หากชาวนาผลิตข้าวเท่าเดิม หมายความว่าข้าวก็จะล้นตลาด ทำให้ราคาข้าวตกต่ำลง ดังนั้น จึงต้องลดพื้นที่ปลูกลงเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าว ล่าสุดมีนาข้าวเพียงร้อยละ 60 ที่มีการเพาะปลูก ผลผลิตข้าวจึงอยู่ที่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของระดับสูงสุดที่ 14.45 ล้านตันต่อปี การที่รัฐบาลควบคุมการผลิตข้าวอย่างเข้มงวด เมื่อมีความต้องการเพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย เช่น จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลน และราคาก็พุ่งสูงขึ้นเหมือนที่เกิดในขณะนี้


นอกจากนี้ มีข้อมูลว่า ญี่ปุ่นกำหนดภาษีนำเข้าข้าวอยู่ที่ร้อยละ 778 เพื่อปกป้องชาวนาในประเทศ ถึงแม้ญี่ปุ่นจะยังนำเข้าข้าวอย่างน้อย 682,000 ตันต่อปี ภายใต้ข้อผูกพันต่อองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ข้าวส่วนใหญ่ที่นำเข้าถูกแยกออกจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น และใช้สำหรับการแปรรูปและอาหารสัตว์เป็นหลัก


นโยบายจำกัดพื้นที่การผลิตข้าวใช้งบประมาณปีละกว่า 3 แสนล้านเยน หรือ 2.06 พันล้านดอลลาร์ นอกจากจะกระทบต่อผู้บริโภคที่ต้องซื้อข้าวในราคาที่สูง ยังกระทบต่อศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศ แต่ถ้ายกเลิกนโยบายดังกล่าว ผลผลิตข้าวก็น่าจะเพิ่มขึ้น ราคาข้าวก็ลดลง ชาวนาก็น่าจะออกมาประท้วง หากญี่ปุ่นส่งออกข้าวที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นก็น่าจะได้ประโยชน์ในแง่ความมั่นคงทางอาหาร 


ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ นโยบายควบคุมปริมาณการผลิตข้าวและมาตรการอุดหนุนทำให้การผลิตไม่ยืดหยุ่น หากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการบริโภคแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจนำไปสู่วังวนปัญหาขาดแคลนและราคาข้าวสูงได้ทุกเมื่อ จึงน่าจะถึงเวลาที่ควรทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้องเรื่องข้าว


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง