

สรุปข่าว
ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สภาวะลานีญา ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ปริมาณฝนตกตั้งแต่เดือน มิ.ย.-พ.ย.2567 จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 5-8 ยกเว้น เดือน ต.ค. ที่ปริมาณฝนตกจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 12
โดยในช่วงปลายฤดูฝน เดือน ต.ค.-พ.ย. จะมีฝนตกหนักมากในภาคตะวันตกตอนล่างและภาคใต้ ดังนั้น สทนช.จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัดตลอดช่วงฤดูฝนปีนี้
โดยช่วงปลายเดือนมิ.ย. จะมีร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กําลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก จึงประกาศแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา
ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงและฝนตกหนักในพื้นที่ ซึ่ง สทนช.ได้ออกประกาศแจ้งเตือนและให้เฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวแล้วเช่นกัน
สำหรับสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ ณ วันที่ 25 มิ.ย. 2567 มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 39,936 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณการกักเก็บ และสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 40,628 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนปราณบุรี ส่วนเขื่อนขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 มีมากถึง 92 แห่งทั่วประเทศ
ดังนั้นหากมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เขื่อนจะสามารถรองรับน้ำหลาก และตัดยอดน้ำได้จำนวนมาก ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะทำให้มีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 อย่างเพียงพอ โดยสทนช. คาดว่า หลังสิ้นสุดฤดูฝนในวันที่ 1 พ.ย. 67 จะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 58,195 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ซึ่งมากกว่าปี 2566 โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก อยู่ที่ 20,667 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปี 2566 และที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) จะมีปริมาณน้ำต้นทุนเต็มความจุรวมทั้งสิ้น 576 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา
ที่มาข้อมูล : -