“เอลนีโญ” กระทบไทยฝนมาช้ากว่าปกติ 1 สัปดาห์ ผุดแผนกักน้ำฝนสู้ภัยแล้ง
“เอลนีโญ”กระทบไทยฝนมาช้ากว่าปกติ 1 สัปดาห์ ผุดแผนบริหารจัดการน้ำฝนช่วงตกน้อย-ทิ้งช่วง สู้ภัยแล้ง
วันนี้ ( 10 พ.ค. 66 )นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประชุมคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์น้ำเพื่อวางแผนเตรียมการรองรับสถานการณ์ฤดูฝนปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศเข้าสู่ ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพ.ค. ส่วนปรากฎการณ์เอลนีโญจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ทำให้คาดการณ์ว่าปีนี้ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 และมีโอกาสที่ ฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม
ส่วนแผนการจัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ช่วงฤดูฝนปีนี้มีจำนวน กว่า 14,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งใกล้เคียงกับปี 65 โดย 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีแผนการจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 51 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของแผนจัดสรรน้ำฤดูฝน
นอกจากนี้ได้เน้นย้ำแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน เพื่อเก็บกักน้ำปริมาณน้ำฝนในช่วงต้นฤดูไว้ให้มากที่สุดเพื่อเป็นน้ำต้นทุนที่จะไปใช้ในหน้าแล้ง โดยใช้ค่าปริมาณน้ำฝนคาดการณ์ต่ำสุดในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอในทุกพื้นที่
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ในช่วงฝนแรก 16- 31 พฤษภาคม จะมีปริมาณฝนประมาณ 80-100 มิลลิเมตร ซึ่งต่ำว่าค่าปกติอย่างชัดเจนยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อาจจะมีฝนมากกว่าค่าปกติบ้างในช่วงวันที่ 16-20 พฤษภาคม
นายสุรสีห์ ยังระบุด้วยว่า ได้ติดตามการตรวจสอบความพร้อมและการซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ของหน่วยงานต่าง เพื่อรับมือฤดูฝนปีนี้ รวมถึงติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA ส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก 15 วัน เป็นข้อมูลในการประเมินและติดตามพื้นที่เสี่ยงแล้งในช่วงของฝนทิ้งช่วงและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนล่วงหน้าได้
ข้อมูลจาก : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ภาพจาก : AFP