เตือนภัยผู้บริโภค! สอท.บุกจับ กลูต้าสวมแบรนด์ดัง มั่วส่วนผสม
สอท.บุกจับแม่ค้าผลิตกลูต้าปลอมในคอนโดฯเมืองชลบุรี พบนั่งหยอดแคปซูลเอง ไม่รู้ส่วนผสมอันตราย
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 เวลา 16.36 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.สอท.) นำโดย พ.ต.ท.เอกภณ คณะญาพงศ์ รองผู้กำกับการ 2 บก.สอท.2 ร่วมกับ นายจิระสันต์ มีรัตน์ธนวัต เภสัชชำนาญการพิเศษ ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เข้าตรวจค้นห้องพักในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี หลังได้รับการแจ้งเบาะแสจากสายลับว่ามีการลักลอบผลิตและจำหน่ายอาหารเสริมความงามที่มีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง
ที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่พบ น.ส.ณัฐกิจ (นามสมมุติ) อายุ 26 ปี กำลังนั่งบรรจุผงสารลงแคปซูลอาหารเสริมชนิดกลูต้าไธโอนเพื่อบำรุงผิวขาว ยี่ห้อดัง ด้วยตนเอง โดยมีผลิตภัณฑ์ที่บรรจุเสร็จแล้วและอุปกรณ์การผลิตวางระเกะระกะเต็มห้อง น.ส.ณัฐกิจ ให้การว่า ตนเป็นเพียงผู้รับจ้างบรรจุแคปซูล โดยนายจ้างจะส่งส่วนผสมมาจากกรุงเทพฯ ซึ่งตนเองไม่ทราบว่าประกอบด้วยสารใดบ้าง จากนั้นจะนำสินค้าไปโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊กในราคากระปุกละ 190 บาท โดยสามารถสร้างรายได้ถึงเดือนละ 30,000-50,000 บาท
จากการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตรวจยึดของกลางผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจำนวน 1,497 กระปุก สารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมหลายกิโลกรัม อุปกรณ์ในการผลิต รวมถึงแคปซูลเปล่ากว่า 10,000 แคปซูล ก่อนควบคุมตัว น.ส.ณัฐกิจ ไปดำเนินคดีในข้อหา "ผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารปลอม ซึ่งเป็นอาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น" ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 27(4) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ส่วนสารเคมีที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์จะถูกส่งไปตรวจวิเคราะห์เพื่อหาสารอันตรายและดำเนินคดีเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ กลูต้าไธโอน (Glutathione) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสามารถสร้างได้เองตามธรรมชาติ และพบได้ในอาหารบางชนิด มีการนำมาใช้ทางการแพทย์ในการรักษาโรคบางชนิด เช่น โรคพาร์กินสัน, โรคอัลไซเมอร์, และโรคมะเร็งบางชนิด
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกลูต้าไธโอนในการทำให้ผิวขาวขึ้นยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน การรับประทานหรือฉีดกลูต้าไธโอนเพื่อหวังผลให้ผิวขาว อาจไม่เห็นผลตามที่คาดหวัง และอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
ข้อควรระวัง
-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกลูต้าไธโอนไม่ได้รับการรับรองจาก อย. และอาจมีส่วนผสมอื่นๆ ที่เป็นอันตราย
-ไม่ควรใช้กลูต้าไธโอนเพื่อทำให้ผิวขาวโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
-หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้กลูต้าไธโอน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
ภาพ สอท.
ข่าวแนะนำ