จริงหรือไม่ ‘เดลตาพลัส’ AY.4.2 ระบาดแรงติดง่าย-วัคซีนเอาไม่อยู่
เปิดข้อมูลโควิด ‘เดลตาพลัส’ รหัส AY.4.2 ระบาดรุนแรงติดง่าย-วัคซีนเอาไม่อยู่ จริงหรือไม่?
วันนี้ ( 26 ต.ค. 64 )จากกรณีประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ เดลตาพลัส (AY.4.2) รายแรก เป็นผู้ป่วยเป็นชายอายุ 49 ปี ประวัติทำงานที่บางไทร จ.อยุธยา ส่งผลให้เกิดความกังวลใจเป็นวงกว้างในเรื่องความรุนแรงของโรคและวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถยับยั้งการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ได้หรือไม่
จริงหรือไม่ ‘เดลตาพลัส’ วัคซีนเอาไม่อยู่-หลบภูมิคุ้มกันได้?
สายพันธุ์เดลตาพลัส ถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของโควิดเดลตา ซึ่งจะมีการกลายพันธุ์ในกรดอะมิโน ที่เรียกว่า k417n เป็นกรณีกลายพันธุ์ที่คล้ายกับสายพันธุ์เบต้า หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งจะทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์นี้สามารถหลบเลี่ยงภูมิต้านทานได้ดีกว่า และติดต่อได้ง่ายที่สุดในไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์
สำหรับข้อมูลในปัจจุบัน ในประเทศอังกฤษ ผู้ที่ติดเชื้อโควิด เดลตาพลัส 50% พบในผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และ มีการติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสเพียงไม่กี่คน และ ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเดลตาพลัส ซึ่งคาดว่าวัคซีนหลายชนิดยังมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียระบุว่าโควิดเดลตาพลัสอาจจะต้านทานต่อการรักษาด้วยแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน (monoclonal antibody therapy) ซึ่งเป็นการให้แอนติบอดีทางเส้นเลือดเพื่อฆ่าไวรัส อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า การกลายพันธุ์นี้ จะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนหรือไม่
อย่างไรก็ตามนักไวรัสวิทยาระบุว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล แต่ยังไม่มีข้อมูลพิสูจน์ว่า เชื้อกลายพันธุ์นี้ติดต่อได้ง่ายขึ้น หรือนำไปสู่การมีอาการป่วยที่รุนแรงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่น ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกยังคงไม่ได้ระบุให้ไวรัสสายพันธุ์ย่อย AY4.2 หรือ เดลตา พลัส ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม "สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง" หรือ "สายพันธุ์ที่น่ากังวล" แต่อย่างใด
จากสถานการณ์ปัจจุบัน ดร.แอนดรูว์ โพลลาร์ด หัวหน้ากลุ่ม Oxford Vaccine Group เปิดเผยว่ามีผู้ติดเชื้อเดลตาพลัส หรือที่เรียกว่าสายพันธุ์ AY.4.2 ในอังกฤษเพิ่มขึ้น โดยคิดเป็น 6% ของยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่ยังไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องได้รับสอบสวนหรือเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล
ประสิทธิภาพวัคซีนประเภทต่างๆที่มีผลต่อโควิดสายพันธุ์เดลตา
วัคซีนไฟเซอร์
ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33% (หมายความว่า 33% เมื่อติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ)
ฉีดเข็มที่ 2 ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%
วัคซีนโมเดอร์นา
ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%
ฉีดเข็มที่ 2 ป้องกันการติดเชื้อได้ 88%
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากข้อมูลของทางสหรัฐฯ
ฉีดเข็มที่ 1 ป้องกันการติดเชื้อได้ 33%
ฉีดเข็มที่ 2 ป้องกันการติดเชื้อได้ 60%
**แม้ประสิทธิภาพจะต่างกัน แต่วัคซีนทุกยี่ห้อยังสามารถป้องกันการอาการหนักหากติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตาได้ทั้งหมด เพื่อป้องกันอาการรุนแรง ทุกคน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน**
“เดลตาพลัส” ระบาดได้รวดเร็วแค่ไหน ?
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค ระบุว่า สถานการณ์ไวรัสโควิดเดลตาพลัส ที่มีการแพร่กระจายเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มขึ้นในประเทศอังกฤษ เชื่อว่าอาจสามารถแพร่กระจายได้ไวกว่า Delta สายพันธุ์ดั้งเดิมได้ประมาณ 10-15% แล้วแต่พื้นที่ที่เก็บข้อมูลจนได้เลื่อนขั้นเป็น Variant under investigation (VUI) โดยหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ
ขณะที่ศาสตราจารย์ฟรองซัว บาลูซ์ จากสถาบันพันธุศาสตร์ ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน หรือยูซีแอล บอกว่า มีความเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์ AY.4.2 จะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าแต่ก็ไม่มาก โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะแพร่ระบาดได้ง่ายกว่า 10% เทียบไม่ได้กับสายพันธุ์อย่างอัลฟาและเดลตาซึ่งแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าถึง 50-60%
อาการหลังติดโควิดสายพันธุ์ ‘เดลตา ’
1.ปวดศีรษะ
2.เจ็บคอ
3.มีน้ำมูก
4.ไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับรส
5.มีอาการทั่วไปคล้ายหวัดธรรมดา
ข้อมูลจาก : บีบีซี, ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค, โรงพยายาลวิชัยเวช,
ภาพจาก : ช่างภาพ TNN ONLINE