TNN ป่วยโควิด! กรมวิทย์ฯ เผย "JN.1" เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดเป็นสายพันธุ์หลักในไทย

TNN

เกาะติด COVID-19

ป่วยโควิด! กรมวิทย์ฯ เผย "JN.1" เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดเป็นสายพันธุ์หลักในไทย

ป่วยโควิด! กรมวิทย์ฯ เผย JN.1 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดเป็นสายพันธุ์หลักในไทย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัปเดตสถานการณ์ โควิด 19 พบ "สายพันธุ์ JN.1" มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัปเดตสถานการณ์ โควิด 19 พบ "สายพันธุ์ JN.1" มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย


นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือโควิด 19 ว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยังคงให้ความสำคัญกับการติดตามสายพันธุ์โอมิครอน จำนวน 10 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 5 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5*, XBB.1.16*, EG.5*, BA.2.86*  และ JN.1* ส่วนสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) จำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ DV.7*, XBB*, XBB.1.9.1* XBB.1.9.2* และ XBB.2.3*


ทั้งนี้ สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกจากฐานข้อมูลกลาง GISAID รอบสัปดาห์ที่ 52 (วันที่ 25 ธันวาคม ถึง 31 ธันวาคม 2566) สายพันธุ์ในกลุ่ม VOI ที่พบมากที่สุด ได้แก่ JN.1* ในสัดส่วน 65.5% ถัดมาคือ EG.5* 16.6% 


โดย EG.5* มีอัตราการพบที่ค่อยๆ ลดลง แต่ในขณะที่ JN.1* มีอัตราการพบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 28 วัน และจากความได้เปรียบในการเติบโตและคุณลักษณะหลบภูมิคุ้มกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า JN.1* จะเพิ่มมากขึ้นและจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในระดับประเทศหรือทั่วโลก

ในขณะที่สายพันธุ์ในกลุ่ม VUM ที่พบมากที่สุด ได้แก่ XBB.1.9.1* ในสัดส่วน 1.8% และ DV.7* ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกัน คือ L455F และ F456L มีอัตราการพบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากฐานข้อมูลกลาง GISAID มีรายงานการพบสายพันธุ์ DV.7* ทั่วโลกจำนวน 5,275 ราย โดยปัจจุบันยังไม่พบมีรายงานการเพิ่มความรุนแรงของโรค


นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับสถานการณ์สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคม 2566 สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.9.2* เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยแทนที่ XBB.1.16* จนกระทั่งต้นปี 2567 สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.9.2* เริ่มลดลง ในขณะที่ JN.1* มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด ณ ปัจจุบัน 


โดย JN.1* มีสัดส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 สะสมนับตั้งแต่เริ่มพบครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม 2566 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึงปัจจุบัน คิดเป็น 6.66% (อ้างอิงจากฐานข้อมูล GISAID และข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ ฝ่ายไวรัสระบบทางเดินหายใจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอยู่ระหว่างการดำเนินการเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID)

ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด 19 ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2566 - 23 มกราคม 2567 จำนวน 234 ราย


- พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ลูกผสมกระจายทุกเขตสุขภาพ โดยสายพันธุ์ JN.1* พบสัดส่วนมากที่สุดเป็น 33.5% ถัดมาคือ EG.5* (สายพันธุ์ย่อยของ XBB.1.9.2*) เป็น 27.5%, BA.2.86* เป็น 21%, XBB.1.16* เป็น 7.3% (เขตสุขภาพที่ยังไม่พบ JN.1* ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 8, 9 และ 10 ส่วนเขตสุขภาพที่ 3 ไม่มีตัวอย่างทดสอบ)


- ในช่วงปลายปี 2566 สายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยยังคงเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.9.2* โดยมีสัดส่วนลดลง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2566 และมกราคม 2567 ดังนี้ 51.9%, 34.7% และ 28.2% ตามลำดับ


- สัดส่วนของ BA.2.86* เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2566 และมกราคม 2567 ดังนี้ 11.4%, 21.8% และ 22.3% ตามลำดับ เช่นเดียวกับ JN.1* มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2566 และมกราคม 2567 ดังนี้ 2.2%, 20.3% และ 43.7% ตามลำดับ

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยการรวบรวมตัวอย่างผลบวกเชื้อก่อโรคโควิด 19 จากการทดสอบ ATK หรือ Real-time RT-PCR จากทั่วประเทศ และเผยแพร่ผ่านฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ มีความสำคัญและจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบอุบัติการณ์แนวโน้มการระบาดใหญ่ การกลายพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิม เพื่อวางมาตรการการควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์” นายแพทย์ยงยศ กล่าวทิ้งท้าย




ที่มา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง