เปิด 4 โครงการรัฐลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดันใช้จ่ายพุ่ง 2.5 แสนล้าน
มาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 โครงการของรัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังจะต่อยอดโครงการที่ได้รับการตอบรับอย่างดีไปปรับปรุงเพื่อออกแบบโครงการใหม่ๆให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ที่เตรียมเริ่มในเดือน มี.ค.65
โครงการมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ปี ในปี 2564 ซึ่งมีทั้งหมด 4 โครงการ ซึ่งได้สิ้นสุดโครงการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ที่ผ่านมา หลังจากนี้กระทรวงการคลังจะนำไปพิจารณาปรับปรุงเพื่อออกแบบโครงการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป และจะมีการปรับปรุงระบบโครงการคนละครึ่งเพื่อรองรับการเปิดโครงการคนละครึ่งระยะ 4 ในช่วงเดือน มีนาคม 2565 นี้ ด้วย
สำหรับตัวเลขเบื้องต้นการใช้จ่ายจาก 4 โครงการมีผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 41ล้าน 5 แสนคน ยอดใช้จ่ายสะสมกว่า 254,281ล้านบาท โดยสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้
1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมกว่า 13 ล้าน 5 แสน 5 หมื่นคน(13.55 ล้านคน) โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวม 24,010 ล้านบาท
2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ผู้ใช้สิทธิสะสมประมาณ1 ล้าน 5 แสน 1 หมื่นคน (1.51 ล้านคน) มียอดการใช้จ่ายสะสมกว่า2,183ล้านบาท
3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน26 ล้าน 3 แสน 5 หมื่นคน (26.35ล้านคน) จากผู้ได้รับสิทธิจำนวน 27 ล้าน 9 แสน 8 หมื่นคน (27.98 ล้านคน) และมีจำนวนผู้ใช้สิทธิครบ 4,500 บาท แล้วกว่า 10 ล้าน 8 แสน 7 หมื่นคน (10.87 ล้านคน) โดยมีกว่า 17 ล้าน 1 แสนคน ที่ใช้จ่ายไม่เต็มวงเงิน และเมื่อสรุปยอดใช้จ่ายสะสมกว่า223,921ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายสะสม 113,936 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม กว่า 109,985ล้านบาท
สำหรับร้านค้ามียอดใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่งเฟส 3 สูงสุด ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่มกว่า 88,712ล้านบาท ร้านธงฟ้า 36,037 ล้านบาท ร้าน OTOP กว่า 10,843ล้านบาท ร้านค้าทั่วไปกว่า 84,160 ล้านบาท ร้านบริการกว่า 3,900 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะกว่า 267 ล้านบาท
และ 4. โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีประชาชนผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 91,952 ราย จากผู้ได้รับสิทธิจำนวนกว่า 4.9 แสนราย โดยมียอดใช้จ่ายสะสมส่วนประชาชน 3,827.4 ล้านบาท มีมูลค่าการใช้จ่ายสะสมที่นำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher 3,064 ล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าสะสม e-Voucher ทั้งสิ้นกว่า 353.8 ล้านบาท และมูลค่าการใช้จ่ายสะสมส่วน e-Voucher 339.2 ล้านบาท
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ภาพประกอบ : www.คนละครึ่ง.com ,TNN Online