TNN เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

พูดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์และ “ถนนจรวด” มาหลายตอน แต่ก็ยังไม่ได้กล่าวถึงองค์กรสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา และเป็นกลไกสำคัญที่มีส่วนทำให้ “ถนนจรวด” เกิดเป็นรูปธรรม


วันนี้ผมเลยอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านรับรู้ก็ได้แก่ “สถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน” (China Academy of Space Technology) ...

CAST เป็นกิจการรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่เป็นเสมือน “คลังสมอง” ของการพัฒนาการบินอวกาศของจีน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปักกิ่ง และอยู่ภายใต้บริษัทด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน (China Aerospace Science and Technology Corporation: SASC)


ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า CAST มีพันธกิจสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศที่สุดล้ำสมัยเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ โดยนับแต่ก่อตั้งเมื่อต้นปี 1968 หรือกว่า 10 ปีก่อนที่จีนเปิดประเทศสู่ภายนอกครั้งใหม่ CAST ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างมากจากรัฐบาลจีน ในปี 1970 CAST ประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมจำลองได้เป็นครั้งแรก


การส่งเสริมของภาครัฐดูจะมีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้นในช่วงทศวรรษหลัง ทั้งนี้ ในปี 2023 องค์กรมีจำนวนพนักงานมากกว่า 22,000 คน และก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบและผู้ผลิตยานอวกาศเพื่อการสำรวจอวกาศ และให้บริการระบบเชื่อมต่ออวกาศกับภาคพื้นดินอย่างบูรณาการและครบวงจรสำหรับลูกค้าทั่วโลก


นอกจากนี้ สถาบันยังนำส่งยานอวกาศหลากหลายชนิดตั้งแต่ระดับระบบไปยังเครื่องมือและชิ้นส่วน และครอบคลุมถึงการสื่อสาร การตรวจจับทางไกล การนำร่อง การผลิตนักบินอวกาศ และการสำรวจห้วงอวกาศ 


การจัดหาดาวเทียมและระบบกลุ่มดาวในฐานะคู่สัญญาหลักนับเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ CAST ได้รับความน่าเชื่อถือในหมู่ลูกค้าทั่วโลก โดยเป็นคู่สัญญาหลักในการจัดหายานอวกาศมากกว่า 430 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้ เกือบ 280 ลำกำลังถูกใช้งานจริงอยู่ในห้วงอากาศ 


เมื่อคราวทีมงานหอการค้าไทยในจีนไปเยี่ยมชม CAST เมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว (Beidou) 

นอกเหนือจากระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System) หรือที่เราเรียกกันจนติดปากในตัวย่อว่า “จีพีเอส” (GPS) ของสหรัฐฯ โกลนัสส์ (Glonass) ของรัสเซีย และกาลิเลโอ (Galileo) ของยุโรปแล้ว จีนถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบนำทางผ่านดาวเทียมบนพื้นโลก 

โดยเป็นระบบที่สามารถทดแทน GPS ได้ โดยที่มีความแม่นยำที่ดีกว่าของระบบอื่นที่มีอยู่ และได้เปิดไห้บริการกับลูกค้าทั่วโลกแล้ว แต่ต้องเป็นสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ที่มีชิพเป๋ยโต่ว อาทิ หัวเหว่ย (Huawei) 


อีกสิ่งหนึ่งที่สร้าง “ความว้าว” ให้กับคณะก็ได้แก่ แบบจำลองแบบ 1:1 ของสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) หรือ “พระราชวังสวรรค์” ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่ห้องโถง 

สถานีอวกาศนี้ได้ถูกใช้งานจีนมากว่า 3 ปีและได้ถูกต่อขยายมาเป็นระยะรวม 3 โมดูล (Module) จนสามารถบรรทุกนักบินอวกาศได้ 6 คน และมีแขนหุ่นยนต์เพื่อไว้ช่วยนักบินอวกาศในการทำงานและการบำรุงรักษาสถานีอวกาศ แม้จะมีขนาดเล็กกว่าสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ราว 5 เท่าตัว แต่ก็คาดว่าจะมีอายุการใช้งานอีกหลาย 10 ปี ช่วยทดแทนการขาดหายไปของ ISS ในอนาคต


นอกจากนี้ CAST ยังจัดแสดงโชว์ “ดินดวงจันทร์” ที่เก็บโดยยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 (Chang’e 5) ซึ่งถือเป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ที่ 5 ในโครงการสำรวจดวงจันทร์ (Chinese Lunar Exploration Program) ขององค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration) และถือเป็นภารกิจเก็บตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์ครั้งแรก

เจ้าหน้าที่ของ CAST ยังเปิดเผยอีกว่า จีนวางแผนว่าจะปล่อยยานอวกาศไปสำรวจเชิงลึกในบริเวณขั้วโลกใต้ของด้านมืดของดวงจันทร์ เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการสร้างฐานวิจัยบนดวงจันทร์ภายใน 10 ปีข้างหน้า และจะมีปล่อยยานอวกาศอีกส่วนหนึ่งไปสำรวจดาวอังคารกับดาวพฤหัสอีกด้วย


อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายก็คือ การขาดความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายที่รู้จักกันในชื่อ “ข้อจำกัดสุนัขป่า” (Wolf Amendment) เมื่อราว 10 ปีก่อน


กฎหมายดังกล่าวห้ามมิให้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration) หรือ “นาซา” (NASA) มีความร่วมมือใดๆ กับ CNSA ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอวกาศและการแบ่งปันดินดวงจันทร์ด้วย


อย่างที่ผมเกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า อุตสาหกรรมการบินและอวกาศสามารถสร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างหลากหลาย อาทิ การสื่อสารโทรคมนาคม การตรวจจับระยะไกล การนำทาง และการสำรวจอวกาศ จีนยังจะเดินหน้าการปล่อยจรวดและดาวเทียมเพื่อหวังประโยชน์ในด้านอื่นๆ อย่างหลากหลาย โดยมี CAST ทำหน้าที่ “ปิดทองหลังพระ” 


อาทิ การสำรวจและติดตามจุดที่มีความเสี่ยงในการทรุดตัวของอาคารสูงในชุมชนเมืองหลัก และรายงานการค้นพบดังกล่าวไปยังหน่วยงานด้านการเคหะท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบจุดเสี่ยงในพื้นที่ต่างๆ ก่อนเกิดการทรุดตัวได้ล่วงหน้า


ท่ามกลางหนทางอันยาวไกลของโครงการ “ถนนจรวด” หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่า เราน่าจะเห็นสตาร์ตอัพหน้าใหม่ผุดขึ้นอีกมาก อาทิ iSPACE (ไอสเปซ) และนำไปสู่ “คลัสเตอร์” อุตสาหกรรมการบินและอวกาศที่ล้ำสมัยและพร้อมสรรพแห่งหนึ่งของโลกในอนาคต นั่นหมายความว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนา “เศรษฐกิจอวกาศ” ของจีนในระยะยาว

ขณะเดียวกัน โดยที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของจีนนับเป็นเหตุผลหนึ่งที่ขยายความต้องการบริการดาวเทียมเชิงพาณิชย์ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่การเพิ่มอุปสงค์การใช้งานของสินค้าในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตามไปด้วย


หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์จะนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในผลประโยชน์มหาศาลทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมจีนและโลกโดยรวม


มองตามแสงไปจนถึงปลายอุโมงค์ ... ความรุดหน้าที่เกิดขึ้นยังจะนำไปสู่การขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาทิ เทคโนโลยีควอนตัมและวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต และการอัพเกรดอุตสาหกรรมอื่น เช่น ไบโอเทค วัสดุใหม่ พลังงานใหม่ และการผลิตอัจฉริยะ ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การสร้างรายได้หลายแสนล้านหยวนและอัดฉีดโมเมนตัมใหม่เข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของจีน


เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ยังได้กล่าวในโอกาสที่พบกับคณะผู้แทนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่เข้าร่วมการวิจัยและพัฒนาภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของฉางเอ๋อ-6 (Chang’e 6) ณ มหาศาลาประชาชน ใจกลางกรุงปักกิ่งว่า จีนพร้อมจะสนับสนุนบุคลากรในอุตสาหกรรมอวกาศอย่างเต็มที่ และเรียกร้องความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างประเทศ 

มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยกับผมว่า จีนคงจะไม่หยุดเพียงแค่การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนขึ้นสู่หมายเลขหนึ่งเท่านั้น 

แต่จะใช้เพื่อทําหน้าที่ในการต่อยอดนโยบาย “Made in China 2025” ไปสู่ “New Quality Productive Force” และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของจีนขึ้นสู่ระดับโลกในระยะยาว ...


ภาพจากChina Aerospace Science and Technology Corporation: SASC

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง