TNN เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ผลจากการดำเนินงานอย่างชัดเจน เป็นระบบ และต่อเนื่อง ก็ทำให้ปักกิ่งอีทาวน์ (Beijing E-Town) ได้สร้างสตาร์ตอัพที่เกี่ยวข้องมากมายในช่วงหลายปีหลัง โดยได้ดึงดูดธุรกิจการบินและอวกาศจำนวนมากกว่า 70 ราย ครอบคลุมถึง 75% ของกิจการประกอบและผลิตจรวดเอกชนของจีนเลยทีเดียว 


รายงานของ Taibo Intelligence Unit ประเมินว่า ช่วงปี 2023-2028 จะถือเป็น “ยุคทอง” ของการพัฒนาภาคอวกาศเชิงพาณิชย์ของจีน โดยคาดว่าในเชิงมูลค่า ขนาดตลาดจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จากราว 2.4 ล้านล้านหยวนในปี 2023 เป็นถึง 5.4 ล้านล้านหยวนในปี 2028 


ในส่วนของโครงการ “ถนนจรวด” ก็ถูกออกแบบเพื่อสร้างศูนย์กลางการวิจัยและการผลิตทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติ และสนับสนุนการพัฒนาอวกาศเชิงพาณิชย์ของจีนผ่านการส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โมเดล และการประยุกต์ใช้ด้านอวกาศ เช่น อุปกรณ์ภาคพื้นดิน จรวดนำส่ง และดาวเทียม 


รวมทั้งการสร้างเวทีกลางที่ใช้ร่วมกันสําหรับการวิจัยและพัฒนา การทดสอบ และการผลิตจรวดและดาวเทียม เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้ข้อมูลอวกาศอย่างแพร่หลาย และสนับสนุนองค์กรการบินและอวกาศเชิงพาณิชย์ในการพัฒนาเทคโนโลยีและแอปใหม่ๆ


ในเชิงภูมิศาสตร์ ถนนจรวดตั้งอยู่ในย่านอี้จวง (Yizhuang) เขตต้าซิง (Daxing) เลยวงแหวนรอบที่ 5 ด้านซีกตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่งไปเล็กน้อย โดยครอบคลุมพื้นที่รวม 140,000 ตารางเมตรหรือเกือบ 88 ไร่ 


ภายใต้แนวคิดของโครงการในเชิงพาณิชย์ ภาคเอกชนถูกคาดหมายว่าจะมีบทบาทในระดับที่สูง ทั้งนี้ รายงานหนึ่งระบุว่า นับแต่ปี 2015 ตลาดอวกาศเชิงพาณิชย์ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 20% 


โดยในปี 2023 จรวดภาคเอกชนของจีนถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ 13 ครั้ง โดยมีสัดส่วนคิดเป็นราว 20% ของภารกิจการปล่อยจรวดทั้งหมดของจีน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ 

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกโครงการที่ผ่านมาประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่รัฐบาลจีนไม่ปล่อยให้ความล้มเหลวเหล่านั้นไปหยุดยั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์โดยรวม 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลจีนยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมฯ อย่างไม่ย่อท้อ ยกตัวอย่างเช่น การประกาศเดินหน้ากําหนดมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม “อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” และสนับสนุนโครงการเปิดตัวเชิงพาณิชย์กว่า 40 โครงการโดยมีเงินทุนกว่า 100 ล้านหยวน


ด้วยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นจรวด ดาวเทียม และ สถานที่ปล่อยจรวด ผสมโรงกับการเร่งผลักดันการวิจัยและพัฒนา แหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญ แหล่งเงินทุนในรูปแบบของ “กลไกตลาด” และอื่นๆ ก็ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมฯ ของจีนที่เดิมเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างในช่วงหลายปีหลัง รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว 


จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดว่า ภายหลังการเปิดตัวโครงการ “ถนนจรวด” ดังกล่าว ผู้รับผิดชอบโครงการก็ฉายภาพหน้าตาและทิศทางแนวโน้มของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกกันยกใหญ่ อาทิ การจำแนกเป็นพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม และการผลิตระดับไฮเอนด์ รวมทั้งยังจะมีห้องนิทรรศการเชิงโต้ตอบสำหรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะมอบประสบการณ์เสมือนจริงให้กับผู้มาเยี่ยมชม 


ขณะเดียวกัน องค์กรและธุรกิจที่เกี่ยวข้องจำนวนมากก็ “รับลูก” ทยอยประกาศโครงการย่อยของตนเองโดยลำดับ อาทิ บริษัทไชน่าร็อกเก็ต (China Rocket Co) เปิดเผยถึงจรวดปล่อยยานอวกาศขนาดเล็กที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง “Jielong-3” หรือ “มังกรอัจฉริยะ 3” ที่ส่งดาวเทียม 9 ดวงขึ้นสู่วงโคจรโลก


ขณะที่จี๋ลี่ (Geely) ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีนก็เปิดตัวดาวเทียม 11 ดวงที่เตรียมส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในระบบการนําทางที่แม่นยํายิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ สเปซไพโอเนียร์ (Space Pioneer) ยังตอกย้ำวิสัยทัศน์ของ “ถนนจรวด” ที่วางเป้าเป็นศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีจรวดที่นํากลับมาใช้ใหม่ ประกาศเตรียมปล่อยจรวดที่ใช้ซ้ำขนาดใหญ่อย่าง “Falcon 9 Equivalent” รุ่น TL-3 จำนวน 3 ครั้ง 


เพียงไม่นานหลังจากนั้น ผมก็พบข่าวความสำเร็จในการปล่อยเที่ยวบินแรกของสเปซไพโอเนียร์เมื่อเดือนกรกฏาคม 2024 ณ จุดปล่อยยานอวกาศเชิงพาณิชย์แห่งแรกของจีน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเหวินชาง (Wenchang) มณฑลไฮ่หนาน 


ทั้งนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งของมณฑลไฮ่หนานที่อยู่ใต้สุดของจีน ฐานปล่อยจรวดเชิงพาณิชย์แห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรที่มีละติจูดต่ำ ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานและเพ่ามประสิทธิภาพในการปล่อยจรวด


นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนจะปล่อยจรวดจากฐานปล่อยจรวดดังกล่าวอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2025 โดยจะนำดาวเทียม 18 ดวง และอีก 36 ดวงขึ้นสู่วงโคจร ตามลำดับ 


นอกจากมิติในเชิงพาณิชย์แล้ว โครงการนี้ยังโดดเด่นในเรื่อง “การกระจายตัวอย่างบูรณาการ” ระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งพันธมิตรอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการศึกษา และสหกรณ์ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินนโยบายการพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าวรุดหน้า เกิดเป็นรูปธรรม และประสบความสําเร็จโดยลำดับ 


นี่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกชัดเจนว่า ถนนจรวดกำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมฯ นี้ของจีน โดยจะเป็นเมืองแรกของจีนที่บรรลุความสามารถในการปล่อยจรวดที่มีต้นทุนต่ำและเชื่อถือได้สูง การกู้คืนจรวด การปล่อยดาวเทียมและกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ และการปล่อยจรวดที่นํากลับมาใช้ใหม่ได้


โดยคาดว่าถนนจรวดแห่งนี้จะดึงดูดองค์กรไฮเทคมากกว่า 100 แห่ง องค์กรเฉพาะทาง 50 แห่ง บริษัทยูนิคอร์น (Unicorn) 5 แห่ง และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 5 แห่ง นั่นเท่ากับว่า ถนนจรวดจะพัฒนาเป็น “คลัสเตอร์นวัตกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์” ที่มีองค์กรที่เกี่ยวข้องหลายพันแห่งและกำกับดูแลดาวเทียมหลายพันดวงในวงโคจรโลก


ในแง่ของ “การกระจายตัว” ของโครงการนี้ ผมสังเกตเห็นรัฐบาลระดับมณฑล/มหานครของจีนหลายแห่ง เช่น เซี่ยงไฮ้ หูหนาน และเสฉวน ได้พร้อมใจกันออกแบบและกำหนด “แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์” ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยมุ่งหวังจะสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ของจีนไปสู่เส้นทางการเติบโตอย่างรวดเร็ว


ในประเด็นนี้ เซี่ยงไฮ้นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ในระดับท้องถิ่น โดยตามแผนปฏิบัติการ 3 ปี (ปี 2024-2026) ของเซี่ยงไฮ้ที่เผยแพร่เป็นครั้งแรก

เมื่อเดือนตุลาคม 2023 ระบุว่า การบินและอวกาศเชิงพาณิชย์นับเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่นานาประเทศจะต้องแข่งขันกันในยุคหน้า และเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนของกำลังการผลิตคุณภาพสูงใหม่ (New-Quality Productive Forces) 


เซี่ยงไฮ้จะมีบทบาทมากน้อยเพียงใด เราไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...



ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ