TNN เปิด 9 อาการมีผลต่อการขับรถ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถคนเดียว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

TNN

ยานยนต์

เปิด 9 อาการมีผลต่อการขับรถ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถคนเดียว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

เปิด 9 อาการมีผลต่อการขับรถ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถคนเดียว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก เปิดข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพ ชี้ 9 อาการมีผลต่อการขับรถ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถคนเดียว

วันนี้ (22 ก.พ.65) สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก เปิดข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ หลายกรณีมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพของตัวผู้ขับขี่ ซึ่งมีผลต่อสมรรถนะในการขับขี่ เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณและเพื่อนร่วมทาง จึงนำ 9 อาการมีผลต่อการขับรถ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถคนเดียว มีคนขับให้ปลอดภัยที่สุด มาฝากกัน

อาการเกี่ยวกับสายตา ควรเลี่ยงการขับรถกลางคืน…สำหรับผู้ที่จอประสาทตาเสื่อม จะมองเห็นเส้นทางเวลากลางคืนไม่ชัดเจน ผู้ที่เป็นต้อหิน ต้อกระจก จะมีมุมมองสายตาแคบ มองเห็นไฟจราจรพล่ามัว

อาการหลงลืม ส่งผลต่อการตัดสินใจ หรืออาการสมองเสื่อมที่มักพบในผู้สูงอายุ จดจำเส้นทางไม่ได้ อาจเกิดปัญหาขับรถหลงทางได้

อาการปวดบริเวณต่างๆ เช่น ปวดข้อเข่า เหยียบเบรก/คันเร่งได้ไม่เต็มที่ หรือกระดูกคอเสื่อม หันคอ หันหน้าดูการจราจรได้ลำบาก หลีกเลี่ยงการขับรถทางไกลเป็นเวลานาน หากเกิดอุบัติเหตุมีความเสี่ยงในการบาดเจ็บรุนแรง

พาร์กินสัน…การตัดสินใจช้าลง ผู้สูงอายุ และวัยทำงานสามารถเป็นได้ เกิดจากระบบประสาท มักจะสั่นขณะอยู่เฉยๆ เมื่อขยับตัวอาการสั่นก็ทุเลาลง หากมีอาการรุนแรงจะทำให้เกิดภาพหลอน ก่อให้เกิดอันตรายได้

เบาหวาน (ระยะควบคุมไม่ได้) ความสามารถในการขับขี่ลดลง หากปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำ จะทำให้หน้ามืด ตาพร่ามัว ใจสั่น หมดสติได้ สำหรับผู้ที่อาการไม่รุนแรงหากจำเป็นต้องขับรถควรเตรียม ลูกอม น้ำหวาน ทานระหว่างขับรถเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ลมชัก เกิดจากความผิดปกติของการส่งสัญญาณไฟฟ้าในสมอง หากมีสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียด อาจชักเกร็ง-กระตุก/เหม่อนิ่งไม่รู้สึกตัว ‼️สูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเองไปชั่วขณะ ไม่ควรขับรถ ควรปรึกษาและได้รับคำแนะนำจากแพทย์

อาการป่วย ซึ่งต้องกินยาบางชนิด ที่มีผลทำให้ง่วงซึมหรือง่วงนอน มึนงง สับสนได้เวลาขับรถ การตอบสนองในขับขี่ทำได้ไม่ดีเหมือนเดิม ควรเลี่ยงการขับขี่ หากมีความจำเป็นต้องขับรถควรปรึกษาแพทย์

โรคหลอดเลือดในสมอง ความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ลดลง ไม่มีแรงในการบังคับพวงมาลัยหรือเปลี่ยนเกียร์ เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์และรักษาอาการของโรคให้หายเป็นปกติก่อนกลับมาขับรถ

โรคหัวใจ หากขับรถนานๆ เครียดกดดันจากรถติด หรือมีเหตุให้ตกใจกับสถานการณ์ตรงหน้า ‼️ อาจทำให้แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หัวใจวายเฉียบพลันได้ นำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรง


เปิด 9 อาการมีผลต่อการขับรถ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถคนเดียว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ


ข้อมูลจาก สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ