

สรุปข่าว
เชื่อว่าหลายคนมีคำถามคาใจว่าทำไมรถนำเข้า (CBU) ถึงมีราคาแพง กับรถบางรุ่นในประเทศผู้ผลิตมีราคาอยู่หลักแสนบาท แต่พอนำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย ราคาโดดไปถึง 2-3 ล้านบาท แน่นอนปัจจัยสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ภาษี” ซึ่งประเทศไทยมีอัตราภาษีรถยนต์นำเข้ารวมสูงสุดถึง 328%
โดยกรมศุลกากรมีวิธีการคำนวณอย่างละเอียด ภายใต้หลักเกณฑ์การประเมินภาษีของรถนำเข้าตามสเปกของรถแต่ละคันไว้ชัดเจน เพื่อไขข้องใจให้ผู้อ่านได้ทราบ TNN ได้หาข้อมูลมานำเสนอว่าผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีในส่วนใดบ้าง และต้องจ่ายเท่าไหร่ ก่อนกำหนดออกมาเป็นราคาได้
เกณฑ์การประเมินราคา CIF (ราคา + ค่าประกันภัย + ค่าขนส่ง) เป็นฐานการประเมินอากรขาเข้า
1.ราคา CIF (ราคา + ค่าประกันภัย + ค่าขนส่ง)
2.ภาษีอากรขาเข้า 80% ของราคา CIF
3.ภาษีสรรพสามิต = (C.I.F. + ภาษีขาเข้า + ภาษีค่าธรรมเนียมอื่นไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) x อัตราภาษี /1 – (1.1 x อัตราภาษี)
*(อัตราภาษีตามขนาด 2,500-3,000 ซีซี = 40%, 3,000 ซีซี = 50% )
4.ภาษีกระทรวงมหาดไทย = 10% ของภาษีสรรพสามิต
5.VAT 7% ของราคา CIF + ภาษีขาเข้า + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีกระทรวงมหาดไทย
ตัวอย่างการคำนวณราคาที่บวกภาษี สมมุติราคารถ 6 แสนบาท บวกค่าส่ง 70,000 บาท
1. ราคา CIF เป็น 670,000 (ราคาสินค้า + ค่าขนส่ง +ค่าประกันภัย )
2. อากรขาเข้า 80% = 536,000
3. ภาษีสรรพสามิตร = (670,000+536,000) x 50% แล้วหาร 1-(1.1x50%) = 1,340,000
4. ภาษีมหาดไทย 10% = 134,000
5.รวม 2,680,000 บาท บวก VAT 7%
ดังนั้นราคารถ = 2,867,000 บาท
สรุปอัตราการจ่ายภาษี
รถเกิน 3,000 ซีซี ภาษีทั้งหมด 328% ของราคา CIF
2,501-3,000 ซีซี ภาษีทั้งหมด 243.94% ของราคา CIF
2,001-2,500 ซีซี ภาษีทั้งหมด 213.171% ของราคา CIF
ไม่เกิน 2,000 ซีซี ภาษีทั้งหมด 187.47% ของราคา CIF
หมายเหตุ : รถยนต์นำเข้า CBU หรือ Completely Built Up เป็นรถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศ และนำเข้ามาทั้งคันไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ยุโรปหรือญี่ปุ่น
หวังว่าคงพอจะเข้าใจกันแล้ว ว่าทำไมราคารถยนต์นำเข้าถึงสูงกว่ารถยนต์ที่มีผลิตในประเทศไทย หากอยากได้รถสเปกต่างประเทศ หรือรุ่นที่ไม่มีจำหน่ายในไทย คุณต้องทำใจและยอมรับกับอัตราภาษี ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสูงขึ้นอีกเกือบ 5 เท่าเมื่อเทียบกับราคาประเทศต้นทางที่ผลิต
ที่มาข้อมูล : -