ลูกเรือประมงเปิดใจ 4 เดือนในเมียนมา ก่อนได้รับอภัยโทษกลับไทย

   วันนี้ 29 มีนาคม 2568 พลเรือเอก พาสุกรี วิลัยรักษ์ โฆษกกองทัพเรือเปิดเผยว่า ตามที่ทางการเมียนมาปล่อยตัว 4 ลูกเรือประมงไทยที่รุกน่านน้ำจังหวัดเกาะสองประเทศเมียนมา  ประกอบด้วย นายวิโรจน์ สพานทอง ณ นคร นายถาวร  พรหมนิมิตร  นายสมปอง  วิวัฒน์  และ นายสุนันท์ มงกุฎทอง  ซึ่งการดำเนินการต่างๆได้ผ่านขั้นตอนลำดับทางกฎหมายเมียนมา 

     โดยเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปยังท่าเทียบเรือบุเรงนอง เกาะสอง เมียนมา โดยเรือของศูนย์ประสานงานประมงชายแดนทางทะเลไทย - เมียนมา (ศปชล.ทม.) นำโดยนายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ  พลเรือโทสุวัจ  ดอนสกุล  ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3/ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 - ศรชล.ภาค 3 ร่วมด้วยคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ/ผู้แทน TBC ฝ่ายไทย/ผู้แทนจังหวัดระนอง

 ลูกเรือประมงเปิดใจ 4 เดือนในเมียนมา ก่อนได้รับอภัยโทษกลับไทย

สรุปข่าว

กองทัพเรือร่วมกระทรวงการต่างประเทศ รับ 4 ลูกเรือประมงไทยที่ถูกทางการเมียนมาควบคุมตัวมากว่า 4 เดือน ก่อนได้รับอภัยโทษและพากลับถึงมาตุภูมิเรียบร้อย ลูกเรือประมงขอบคุณรัฐบาลที่ประสานให้การช่วยเหลือ ยืนยันจะระมัดระวังมากขึ้น

  เมื่อคณะ ของฝ่ายไทยเดินทางถึงท่าเทียบเรือบุเรงนอง ในเวลา 14:30 น. พันเอก อ่าวโกละ ผู้บังคับการยุทธศาสตร์ จังหวัดเกาะสอง นายอู้โซอ่าว ผวจ. เกาะสอง และนายอู้โกโกหน่าย หัวหน้าตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเกาะสอง ได้ให้การต้อนรับ และพบปะ พูดคุยกับลูกเรือประมงทั้ง 4 คน ก่อนรับขึ้นเรือเดินทางกลับประเทศไทย โดยเมื่อคณะของฝ่ายไทยพร้อมลูกเรือ เดินทางถึงท่าเรือระนอง ได้ผ่านการตรวจคนเข้าเมือง และพบญาติที่รอต้อนรับ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น

  ด้านนาย วิโรจน์ 1 ใน 4 ลูกเรือประมงเล่าให้ฟังตามที่พวกตนเองถูกจับเมื่อวันที่ 30 พย.67 และถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดเกาะสองตั้งแต่เดือน ธค.67 ทางการเมียนมาดูแลพวกตนเป็นอย่างดี ขอบคุณรัฐบาลที่ได้ประสาน และให้ความช่วยเหลือ ดีใจที่ได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว จะทำอาชีพประมงต่อเพราะทั้งชีวิตทำเป็นอยู่อย่างเดียว แต่จะระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าเดิม

     สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกองทัพกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้ประสานงานกันมาตลอดในทุกระดับ ทั้งช่องทางผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงย่างกุ้ง ซึ่งในระดับกองทัพก็มีการหารือกันระหว่างผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพของสองชาติ รวมถึงหน่วยงานระดับอำนวยการอย่าง ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ถือเป็นการประสานงานจากความสัมพันธ์อันดีที่มีกันมาตลอด 

avatar

นัฐทวี ชลีโสภณ

แท็กบทความ

ลูกเรือประมง
กองทัพเรือ
4ลูกเรือ
ศรชล.
ก.ต่างประเทศ