ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 พ่นพิษทำลายสุขภาพและคุณภาพการใช้ชีวิต

ในช่วงฤดูหนาว หลายพื้นที่ในประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยร้ายต่อสุขภาพอย่างฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งในปัจจุบันค่าฝุ่นในหลายพื้นที่เริ่มเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้และเยื่อบุจมูกอักเสบที่อาจมีอาการกำเริบได้ ฝุ่นพิษเหล่านี้ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง 

โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ การจาม คันจมูก น้ำมูกไหล เสมหะลงคอ และในบางรายอาจเกิดอาการเยื่อบุจมูกอักเสบจนเป็นแผลเล็ก ๆ ทำให้เลือดกำเดาไหล นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 ยังส่งผลกระทบรุนแรงกับผู้ที่มีปัญหาภูมิแพ้เรื้อรังหรือภาวะคัดจมูกเรื้อรังอีกด้วย

นายแพทย์นัทพล ธรรมสิทธิ์บูรณ์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่หลายคนคงเคยได้ยิน หากใครที่มีการสัมผัสกับฝุ่นละอองชนิดนี้ อาจส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและยาวได้ ดังนี้

  • ผลกระทบในระยะสั้น

ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา,จมูก, คอ  ทางเดินหายใจ

ทำให้เกิดอาการแสบตา ไอ จาม น้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย

ทำให้สมรรถภาพปอดแย่ลง

ทำให้โรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด หรือ โรคหัวใจ กำเริบ


  • ผลกระทบในระยะยาว

ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

สมรรถภาพปอดลดลง

เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด เนื่องจากฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ถือเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง



ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 พ่นพิษทำลายสุขภาพและคุณภาพการใช้ชีวิต

สรุปข่าว

PM2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่หลายคนคงเคยได้ยิน หากใครที่มีการสัมผัสกับฝุ่นละอองชนิดนี้ อาจส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและยาวได้

นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 จะเป็นตัวกระตุ้นให้อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้เรื้อรัง กำเริบขึ้นได้ ซึ่งการดูแลสุขภาพในสถานการณ์ PM 2.5 กลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องภูมิแพ้เรื้อรังอยู่แล้วควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ ควรล้างจมูกเพื่อชะล้างฝุ่นละอองที่เกาะอยู่บนผนังจมูกออกไป ใช้ยารักษาภูมิแพ้ที่รักษาอยู่เดิมอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก หรือ การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นทางปากสำหรับโรคหอบหืด เป็นต้น

หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาหรือมีอาการคัดจมูกที่เกิดจากเยื่อบุจมูกส่วนล่างโต ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “RF (Radiofrequency) หรือ การรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุ” โดยแพทย์จะใช้เข็มลักษณะพิเศษใส่เข้าไปในเยื่อบุโพรงจมูกของผู้ป่วย จากนั้นคลื่นวิทยุจะเปลี่ยนเป็นความร้อน จนเยื่อบุโพรงจมูกมีการหดตัวลง ส่งผลให้ช่องขนาดโพรงจมูกกลับมามีพื้นที่ว่างมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้โล่งและสะดวกยิ่งขึ้น 

ซึ่งข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือสามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 10-15 นาที โดยจะเห็นผลการรักษาภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการคัดจมูกเนื่องจากเยื่อบุจมูกบวมโตอีกครั้ง สามารถรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวซ้ำได้

การเตรียมตัวก่อนการรักษาด้วยคลื่นวิทยุ RF ผู้ป่วยควรจะรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันไข้หวัดหรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้ต้องเลื่อนการรักษา สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ต้องหยุดยาก่อนล่วงหน้า7-10วัน

ทั้งนี้ หลังทำ RF 24-48 ชั่วโมงแรก ให้หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ หลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกา หรือกระทบกระเทือนบริเวณจมูก งดออกกำลังกายหักโหม ยกของหนัก หรือการออกแรงมาก เพราะอาจทำให้มีเลือดออก หากมีเลือดออกให้นอนศีรษะสูง อมและประคบน้ำแข็งจนกระทั่งเลือดหยุด หากเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

บทความโดย นายแพทย์นัทพล ธรรมสิทธิ์บูรณ์  โสต ศอ นาสิกแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี

แท็กบทความ

PM2.5
ฝุ่นPM2.5
ฝุ่นละออง
ฝุ่นจิ๋ว
ป้องกัน PM2.5