!["เอดส์" กับ "HIV" แตกต่างกันอย่างไร? เปิดเรื่องจริงที่หลายคน มักเข้าใจผิด!](/static/images/638d2c5e-fef4-4f26-a91f-671933172e21.jpg)
!["เอดส์" กับ "HIV" แตกต่างกันอย่างไร? เปิดเรื่องจริงที่หลายคน มักเข้าใจผิด!](/static/images/638d2c5e-fef4-4f26-a91f-671933172e21.jpg)
สรุปข่าว
กลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้อีกครั้ง กับโรคเอดส์และการติดเชื้อ HIV หลังมีรายงานว่า ขณะนี้พบการระบาดอย่างแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน และนักศึกษา ซึ่งโรคเอดส์และการติดเชื้อ HIV นี้อยู่คู่กับสังคมไทยและสังคมโลกมาอย่างยาวนาน แต่ในทางกลับกัน ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคชนิดนี้กลับมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และบางข้อมูลก็มีทั้งผิดทั้งถูกปะปนกันไป ดังนั้นวันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคนี้ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงเปิดเรื่องราวต่างๆ ที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับมันด้วย
โรคเอดส์ คืออะไร?
เอดส์ (acquired immunodeficiency syndrome - AIDS) เป็นโรคทางภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดหนึ่ง ที่เกิดหลังจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) โดยเชื้อตัวนี้จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ซึ่งเป็นสาเหตุที่หลักที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง ซึ่งหากไม่เข้ารับการรักษา เม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะลดลงเรื่อยๆ จนนำไปการเป็นโรคเอดส์ได้ และเนื่องจากภูมิคุ้มกันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคภายนอก จึงทำให้สามารถเกิดโรคติดเชื้ออื่นแทรกซ้อนขึ้นมาได้
โรคเอดส์กับ HIV แตกต่างกันอย่างไร?
HIV คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยการยึดจับและทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า CD4 ส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากไม่ได้รับการรักษา เม็ดเลือดขาว CD4 จะลดลงเรื่อยๆ และนำไปสู่การป่วยเป็นโรคเอดส์ได้
เอดส์ หรือ AIDS คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HIV และมีระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ต่ำกว่า 200 ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งในทางการแพทย์มักเรียกว่าโรค “ภูมิคุ้มกันบกพร่อง” ผู้ป่วยโรคเอดส์จึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
เชื้อ HIV สามารถติดต่อได้อย่างไร?
สำหรับเชื้อ HIV นั้น สามารถพบได้ในน้ำอสุจิ เลือด สารคัดหลั่งที่อยู่บิเวณช่องคลอด รวมถึงน้ำนมของผู้ที่ติดเชื้อ ดังนั้นเมื่อสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ที่มีเชื้อ HIV อยู่ผ่านทางเยื่อบุ หรือผิวหนังที่มีบาดแผล จึงทำให้มีโอกาสรับเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ทางหลักๆ ดังนี้
1. การมีเซ็กส์ที่ไม่ปลอดภัย พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ HIV โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
2. การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้มีเชื้อ HIV ซึ่งกรณีนี้มักพบบ่อยในกลุ่มของผู้ที่ใช้เสพสารเสพติด หรือฉีดยาเข้าเส้น
3. การได้รับเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งการที่ผู้เป็นแม่ติดเชื้อ HIV มีโอกาสแพร่เชื้อให้กับลูกได้ 3 ช่วง คือ ขณะตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และ ช่วงที่เด็กต้องรับประทานนมแม่
ลำดับการติดเชื้อ HIV และ โรคเอดส์ เป็นอย่างไร?
ระยะแรก เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเริ่มติดเชื้อ จะไม่ค่อยแสดงอาการ หรืออาจสังเกตไม่ได้
ระยะที่ 2 ผู้ป่วยมักมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย อาจมีเชื้อราในปาก หรือบางรายมักมีการแสดงออกของโรคมาในรูปแบบของงูสวัด
ทั้งนี้ในระยะที่ 1 และ 2 ของการติดเชื้อ HIV ยังไม่ถือเป็นโรคเอดส์
ระยะที่ 3 ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำลง จนนำไปสู่การเป็นโรคเอดส์ มีการติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น วัณโรค หรือเชื้อราขึ้นสมอง เป็นต้น
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์
1. เชื้อ HIV ไม่สามารถติดต่อจากการจับมือ การกอด การรับประทานอาหารร่วมกัน หรือการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไปได้
2. เชื้อ HIV ไม่สามารถติดต่อผ่านการถูกยุงกัด
3. การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ไม่ได้ทำให้เราเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
ทั้งนี้หากรู้สึกว่าตัวเองเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ให้รีบเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาจากแพทย์ เพราะหากรู้เร็ว HIV สามารถรักษา และห่างไกลจากการเป็นโรคเอดส์ได้
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
ที่มาภาพปก : freepik/ijeab
ที่มาข้อมูล : -