![เปิดยอดป่วย "โรคเบาหวาน-ความดันสูง" อาการเป็นอย่างไร? แนะตรวจคัดกรอง](/static/images/d370fda4-7b55-4c92-a060-4b23b61223f5.jpg)
![เปิดยอดป่วย "โรคเบาหวาน-ความดันสูง" อาการเป็นอย่างไร? แนะตรวจคัดกรอง](/static/images/d370fda4-7b55-4c92-a060-4b23b61223f5.jpg)
สรุปข่าว
กรมควบคุมโรค ชวนประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและความดัน โลหิตสูง เผยพบคนไทย 8 ล้านคน ยังเข้าไม่ถึงระบบคัดกรอง
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากฐานข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในปี 2565 จำนวน 6.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 2 แสนคน และผู้ป่วยโรคเบาหวานในปี 2565 จำนวน 3.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 1.5 แสนคน
ในส่วนของการคัดกรองผู้ป่วยรายใหม่ พบว่า การคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป มีผู้ได้รับการคัดกรองเพียง 14 ล้านคน และยังไม่ได้รับการคัดกรองโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 8 ล้านคน จากเป้าหมายทั่วประเทศ 22 ล้านคน หากประชาชนที่ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต
ปัจจุบันมาตรการคัดกรอง โรคเบาหวานและ โรคความดันโลหิตสูงในประชากรวัยผู้ใหญ่เป็นมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นมาตรการที่มีความคุ้มค่า ซึ่งถูกบรรจุในแผนป้องกันและควบคุมโรคของประเทศไทยและอยู่ในสิทธิประโยชน์การส่งเสริมและป้องกันโรคของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนสามารถเข้ารับการคัดกรองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ได้รับการตรวจคัดกรองน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และมีค่าน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป หรือผู้ที่ได้รับการตรวจคัดกรองความดันโลหิตขณะนั่งพัก ที่มีค่าความดันโลหิตตัวบน ตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่างตั้งแต่ 90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ให้สงสัยว่าป่วย และควรได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ให้ลดอาหารหวาน มัน เค็ม มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง PM 2.5 รวมถึงลดการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันการเกิดโรค
นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่าประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ต้องได้รับบริการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตปีละ 1 ครั้ง เพื่อทราบถึงตัวเลขสุขภาพของตนเอง (รู้เลขเสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อ) ท่านสามารถติดต่อรับบริการตรวจคัดกรองโดยยื่นบัตรประชาชนเข้ารับบริการตามสิทธิการรักษา ได้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
อาการเบื้องต้นโรคเบาหวาน
-น้ำหนักลด
-ปัสสาวะกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง
-อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง
-กระหายน้ำ หิวน้ำบ่อย
-กินจุหิวบ่อย
-สายตาพร่ามัว มองไม่ชัดเจน
-ชาปลายมือ ปลายเท้า
-เป็นแผลว่าย แผลหายยาก คันตามผิวหนัง
การเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ และทำงานล้มเหลว เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
-สูญเสียการมองเห็น
-ชาปลายมือปลายเท้า
-ไตวายเรื้อรัง
-อัมพฤกษ์ อัมพาต
-หัวใจขาดเลือด
รวมถึงเป็นแผลว่ายหายยาก บางรายอาจจำเป็นต้องตัดขา
อาการรุนแรง โรคความดันโลหิตสูง
-ใจหั่น
-ปวดหัว ปวดต้นคอ
-คลื่นไส้ อาเจียน
-ตาพร่ามัว ปวดตา
-หน้ามืด เวียนหัว
-มือ เท้าชา
-เหนื่อยง่าย หอบ
ภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
-หลอดเลือดสมอง ตีบ แตก หรือ ตัน
-หัวใจขาดเลือด หัวใจวาย
-ไตวายเรื้อรัง
-จอประสาทตาเสื่อม
![เปิดยอดป่วยโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงแนะอายุ 35 ปีขึ้นไปตรวจคัดกรอง! เปิดยอดป่วยโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงแนะอายุ 35 ปีขึ้นไปตรวจคัดกรอง!](/static/images/f8bcd625-4494-4b26-9307-289923b058d1.jpg)
![เปิดยอดป่วยโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงแนะอายุ 35 ปีขึ้นไปตรวจคัดกรอง! เปิดยอดป่วยโรคเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงแนะอายุ 35 ปีขึ้นไปตรวจคัดกรอง!](/static/images/14a9bdf7-788b-45a2-a44a-06c3a6c9d251.jpg)
ที่มา กรมควบคุมโรค
ภาพจาก รอยเตอร์
ที่มาข้อมูล : -