"Huawei" เมินถูกแบน จ่อหวนคืนตลาดโลกอีกครั้ง l การตลาดเงินล้าน
ท่ามกลางความท้าทายจากการถูกแบน (คว่ำบาตร) จากสหรัฐอเมริกา นิเคอิ เอเชีย รายงานว่า หัวเว่ย (Huawei) กำลังมองหาช่องว่างที่จะกลับมาครองตำแหน่งสูงสุดในตลาดโลกอีกครั้ง ด้วยการขยายจำนวนตลาดในการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ให้มากขึ้น และจะเป็นการกลับมาในตลาดโลกด้วย ชิปเซ็ต ที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้นมาเอง
เห็นได้จากความเคลื่อนไหว ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2024 ได้มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ของ หัวเว่ย เมต เอ็กซ์ 6 (Huawei Mate X6) ติดตั้งอยู่ตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่น ฮ่องกง ดูไบ และ กัวลาลัมเปอร์ เป็นการตอกย้ำถึงการกลับมาของแบรนด์ในตลาดสมาร์ตโฟนระดับพรีเมียมของโลก
ซึ่ง เมต เอ็กซ์6 เป็นสมาร์ตโฟนพับได้รุ่นเรือธงของแบรนด์ มีการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศจีน จากนั้น คือมาเลเซีย ในช่วงเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา ตามมาด้วยการเปิดตัวที่ ฮ่องกง ในเดือนมกราคม ปีนี้ และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ยังมีแผนที่จะขยายไปยังตลาดอื่น ๆ อีก มากกว่า 30 แห่งในยุโรป รวมถึง ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา
มีรายงานข่าวด้วยว่า เมต เอ็กซ์ 6 ได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มสมาร์ตโฟนจอพับได้ นั่นเพราะ หัวเว่ย ได้ห่างหายจากการเปิดตัวมือถือพับได้เป็นเวลานานถึง 2 ปี ซึ่งมือถือรุ่นพับได้ รุ่นสุดท้ายที่มีการเปิดตัวไปคือ เมต เอ็กซ์ 3 (Huawei Mate X3) และเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ได้รับความสนใจมาก เพราะมือถือรุ่นนี้ ยังมาพร้อมกับ ชิป คิริน 9020 5G (Kirin 9020 5G) ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม อีกด้วย
และยังใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้ กับมือถือซีรีส์ โนวา 13 (Nova 13) เป็นมือถือระดับกลาง ที่มาพร้อมกับชิปเซ็ต คิริน 8,000 (Kirin 8000) และความสามารถอื่นๆ ที่ช่วยยกระดับความสามารถของผู้ใช้งาน
อย่างไรก็ดี แม้ว่า หัวเว่ย จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2023 ด้วยการเปิดตัว เมต 60 ซีรีส์ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสที่จะกลับสู่ตลาดโลกได้ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดที่เข้มงวด รวมถึงยังมีปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ผลิตชิปขั้นสูง
แต่ล่าสุด แม้ว่าปัญหาเดิม ๆ จะยังคงมีอยู่ การเปิดตัว เมต เอ็กซ์ 6 ของหัวเว่ย ที่ขับเคลื่อนด้วย คิริน (Kirin) ซึ่งพัฒนาขึ้นเอง และมีวางจำหน่ายอยู่ในหลายประเทศ เป็นการบ่งชี้ถึงการเริ่มกลับเข้าสู่ตลาดสมาร์ตโฟนโลกอีกครั้งของบริษัทดังกล่าว
สรุปข่าว
ด้านบลูมเบิร์ก รายงานว่า การกลับมาอย่างน่าทึ่งของหัวเว่ย ทำให้เกิดการตั้งคำถาม ถึงความพยายามของสหรัฐฯ ในการควบคุมการเติบโตทางเทคโนโลยีของจีนนั้น ได้ผลเพียงพอหรือไม่
โดยรัฐบาลทรัมป์(1) ขึ้นบัญชีดำบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี เมื่อปี 2019 เนื่องจากข้อกังวลเรื่องการสอดแนม(สปาย) ให้กับรัฐบาลจีน และถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจสมาร์ตโฟนระดับโลกรายนี้ โดยส่งผลให้ หัวเว่ย จำหน่ายสินค้าในสหรัฐฯ ยากขึ้น และซื้อชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ในสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น
แต่บริษัทฯ ก็กลับมาฟื้นตัวได้ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลจีน และปัจจุบัน กลายเป็นศูนย์กลางความพยายามระดับชาติในการบรรลุอิสรภาพทางเทคโนโลยีจากประเทศตะวันตกอีกด้วย
รายงานจาก สมาคมผู้ผลิตชิปโลก ระบุว่า หัวเว่ย กำลังสร้างเครือข่ายโรงงานผลิตชิป หลังจากถูกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง และจากการเปิดตัว เมต 60 โปร (Mate 60 Pro) เมื่อปี 2023 ที่เผยให้เห็นชิป 7 นาโนเมตร ซึ่งหัวเว่ยออกแบบเอง ตามหลังเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดในโลกเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น จนสื่อของทางการจีนยกย่องความก้าวหน้านี้ว่าเป็นชัยชนะเหนือมาตรการคว่ำบาตร
นอกจากนี้ ผลจากการคว่ำบาตร หัวเว่ย ก็ไปไกลมากกว่าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เพราะมีระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ ซึ่งก็คือ ฮาร์โมนี โอเอส (HarmonyOS) ที่ปัจจุบันมีเชื่อมต่อกับอุปกรณ์มากกว่า 800 ล้านเครื่องแล้ว และยังขยายธุรกิจไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
ทั้งนี้ หัวเว่ย กลับมายืนในตลาดสมาร์ตโฟนจีน ได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ด้วยยอดขายที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากรายงานล่าสุดของบริษัทวิจัยตลาด คานาลิส (Canalys) พบว่า ปี 2024 หัวเว่ย มียอดขายในตลาดจีน สูงถึง 46 ล้านเครื่อง คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 37 จากปีก่อนหน้า และมีส่วนแบ่งตลาดอยู่อันดับ 2 แซงหน้า แอปเปิล ในตลาดสมาร์ตโฟนของจีน โดยมีส่วนแบ่งตลาด อยู่ที่ร้อยละ 12
ส่วนอันดับ 1 ที่ครองตลาดอยู่ คือ vivo มีส่วนแบ่งตลาด อยู่ที่ร้อยละ 17 มียอดขายจำนวน 49 ล้าน 3 แสนเครื่อง คิดเป็นอัตราการเติบโต ร้อยละ 11
ขณะที่ อันดับ 3 ถึงอันดับ 5 ได้แก่ Apple, OPPO และ HONOR ตามลำดับ โดยมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันที่ ร้อยละ 15 ด้วยยอดขาย 42 ล้าน 9 แสนเครื่อง, 42 ล้าน 7 แสนเครื่อง และ 42 ล้าน 2 แสนเครื่อง ตามลำดับ
จากยอดขายดยรวม ปี 2024 ตลาดสมาร์ตโฟนจีน มียอดขายจำนวน 285 ล้านเครื่อง ถือเป็นการฟื้นตัวหลังจากที่ลดลงต่อเนื่องมา 2 ปี และมีอัตราการเติบโต ที่ร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน
สำหรับตลาดสมาร์ตโฟนโลก หากย้อนกลับไปสำรวจปีก่อนที่ หัวเว่ย จะถูกขึ้นบัญชีดำ พบว่า ยอดขายสมาร์ตโฟนของ หัวเว่ย มีส่วนแบ่งตลาดอยู่อันดับ 3 ของโลก ในปี 2018 ที่สัดส่วนร้อยละ 15 เป็นรองจาก ซัมซุง ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดร้อยละ 27 และ แอปเปิล อันดับ 2 ที่ร้อยละ 24
แต่จากรายงานยอดการจัดส่งสมาร์ตโฟนทั่วโลก ปี 2024 หัวเว่ย ยังไม่ติดอยู่ใน ท็อป 5 ของโลก
จากรายงานล่าสุดของ ไอดีซี พบว่าปี 2024 ที่ผ่านมา แอปเปิล มีการจัดส่งสมาร์ตโฟนเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยจำนวน 232 ล้าน 1 แสนเครื่อง และมีส่วนแบ่งตลาด อยู่ที่ ร้อยละ 18.7
ส่วนอันดับ 2 เป็นของ ซัมซุง มียอดจัดส่ง 223 ล้าน 4 แสนเครื่อง ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18
ส่วนอันดับ 3 ถึง อันดับ 5 เป็นของแบรนด์จีนทั้งหมด โดย อันดับ 3 คือ เสียวหมี่ ยอดจัดส่ง 168 ล้าน 5 แสนเครื่อง ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13.6
อันดับ 4 แทรนชัน ยอดจัดส่ง 106 ล้าน 9 แสนเครื่อง ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.6
และอันดับ 5 ออปโป้ มียอดจัดส่ง 104 ล้าน 8 แสนเครื่อง และมีส่วนแบ่งตลาด อยู่ที่ ร้อยละ 8.5
นอกจากนี้ ไอดีซี รายงานด้วยว่า การจัดส่งสมาร์ตโฟนทั่วโลก ในไตรมาส 4 ปี 2024 มีจำนวน 331 ล้าน 7 แสนเครื่อง คิดเป็นอัตราการเติบโตทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นการเติบโตติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 ในด้านยอดการจัดส่ง
ทำให้ตลอดทั้งปี 2024 มีการจัดส่งรวม 1,240 ล้านเครื่อง เติบโตที่ร้อยละ 6.4 ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากตกต่ำต่อเนื่องมาสองปี บ่งชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของตลาดสมาร์ตโฟน ที่แม้จะมีความท้าทายในระดับมหภาคก็ตาม ทั้งความกังวลด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ และความต้องการที่ลดลง
ด้านนักวิเคราะห์จากจาก ไอดีซี คาดการณ์ด้วยว่า ปี 2025 นี้ ตลาดจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการฟื้นตัว ภายใต้ภัยคุกคามจากประเด็นภาษีศุลกากรใหม่ และภาษีที่เพิ่มขึ้นจากรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดี ทรัมป์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้เพิ่มความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรม และทำให้ผู้เล่นบางรายแสวงหามาตรการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของตนเอง
ที่มาข้อมูล : TNN
ที่มารูปภาพ : นิเคอิ เอเชีย