
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศยกเลิกกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร และเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หลังสถานการณ์แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ คลี่คลาย ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมได้รับการแก้ไข ขณะที่การให้ความช่วยเหลือประชาชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ด้านรองศาสตราจารย์ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. รายงานว่า จนถึงช่วงเย็นของวันที่ 31 มีนาคม มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 33 ราย และเสียชีวิต 19 ราย โดยเฉพาะกรณีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างพังถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 12 ราย แม้จะเกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งโอกาสพบผู้รอดชีวิตลดลง แต่ทีมกู้ภัยยังคงเดินหน้าค้นหาต่อไป
ส่วนศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กลางจะถูกย้ายจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ไปยังศูนย์บัญชาการเหตุการณ์หน้างานในพื้นที่เขตจตุจักร เพื่อควบคุมสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางจราจรในบริเวณดังกล่าว

สรุปข่าว
กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับวิศวกร กทม. ได้รับแจ้งเหตุอาคารแตกร้าว 14,430 กรณี ตรวจสอบแล้ว 11,517 กรณี และเหลือ 2,426 กรณีที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ในจำนวนนี้มีอาคารที่เสี่ยงสูงจนต้องระงับการใช้งานเพียง 2 แห่ง ซึ่งได้จัดหาที่พักให้ผู้อยู่อาศัยแล้ว
สำหรับการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร มีการแจ้งให้เจ้าของอาคาร 5,000 โครงการตรวจสอบเบื้องต้น โดยพบว่า 700 โครงการปลอดภัย ขณะที่เครนก่อสร้าง 201 โครงการถูกสั่งระงับการใช้งานจนกว่าจะมีการตรวจสอบความปลอดภัย
กทม. ได้เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 แห่ง ได้แก่
- ศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง
- ศูนย์พักพิงโรงเรียนวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร
- ศูนย์พักคอยญาติผู้ประสบภัย เขตจตุจักร
ประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าพักและขอรับความช่วยเหลือได้ตามศูนย์ที่จัดตั้งขึ้น

สุนิดา สวัสดิพรพัลลภ