ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวชี้ โลกไม่ได้สั่นถี่ขึ้น แค่ตรวจจับได้มากขึ้น

เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาในเมียนมาและไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นอีก ในประเทศไทย หนึ่งในจุดที่ได้รับความเสียหายหนักคืออาคารสูงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่พังถล่มลงมา

ภาพและวิดีโอที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นถึงความเสียหายจากแผ่นดินไหวในเมียนมาและไทย ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในอินเดียเกิดความกังวล เนื่องจากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 ถึงกุมภาพันธ์ 2568 อินเดียบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวถึง 159 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นที่กรุงเดลีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แม้ว่าหลายคนจะรู้สึกว่าแผ่นดินไหวเกิดถี่ขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาจเป็นเพราะการตรวจจับที่แม่นยำขึ้นและการรับรู้ที่มากขึ้นจากโซเชียลมีเดีย มากกว่าที่จะเป็นการเพิ่มขึ้นจริงของความถี่แผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเหมือง การสร้างเขื่อน และการสูบน้ำบาดาล อาจมีส่วนทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่เกิดจากมนุษย์ (human-induced earthquakes)

ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวชี้  โลกไม่ได้สั่นถี่ขึ้น  แค่ตรวจจับได้มากขึ้น

สรุปข่าว

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนแผ่นดินไหวที่บันทึกได้มาจากเทคโนโลยีตรวจวัดที่แม่นยำขึ้น ไม่ใช่ความถี่ของแผ่นดินไหวที่เพิ่มขึ้นจริง

ตามข้อมูลของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) อัตราการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกมีแนวโน้มคงที่ในระยะยาว โดยเฉลี่ยจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.0 ขึ้นไปประมาณ 16 ครั้งต่อปี ซึ่งประกอบด้วยแผ่นดินไหวระดับ 7.0 ราว 15 ครั้ง และระดับ 8.0 ขึ้นไป 1 ครั้ง ซึ่งตัวเลขนี้ยังคงค่อนข้างคงที่ตลอดช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าอัตราการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะคงที่ แต่จำนวนแผ่นดินไหวที่ตรวจพบทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบัน ศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวแห่งชาติ (NEIC) ตรวจจับแผ่นดินไหวได้ประมาณ 20,000 ครั้งต่อปี หรือเฉลี่ย 55 ครั้งต่อวัน

ในนิวซีแลนด์ หน่วยงาน GeoNet รายงานการเกิดแผ่นดินไหวระหว่าง 50-80 ครั้งต่อวัน หรือประมาณ 20,000 ครั้งต่อปี ข้อมูลจาก GEE Community Catalog ยังเผยให้เห็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของจำนวนแผ่นดินไหวที่บันทึกได้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบัน

สาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนแผ่นดินไหวที่บันทึกได้เพิ่มขึ้นมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีตรวจวัดแผ่นดินไหวที่แม่นยำขึ้น ปัจจุบันมีเครือข่ายเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่หนาแน่นและไวต่อการสั่นสะเทือนมากขึ้น ทำให้สามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนขนาดเล็กที่ในอดีตไม่สามารถบันทึกได้

ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อการเกิดแผ่นดินไหวหรือไม่? การศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด (CSU) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีบทบาทในการเพิ่มความถี่ของแผ่นดินไหวในบางพื้นที่ นักวิจัยพบว่า ในช่วงยุคน้ำแข็ง ธารน้ำแข็งที่มีน้ำหนักมหาศาลกดทับพื้นดิน ทำให้การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนใต้ดินลดลง แต่เมื่อธารน้ำแข็งละลายและถอยร่น แรงกดบนเปลือกโลกก็ลดลง ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนได้มากขึ้น

ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่าภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีกิจกรรมธารน้ำแข็ง เช่น อลาสกา เทือกเขาหิมาลัย และเทือกเขาแอลป์ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของแรงกดทับบนเปลือกโลกที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็ง

แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าโลกร้อนส่งผลต่อการเกิดแผ่นดินไหวในทุกพื้นที่ทั่วโลก แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาในอนาคต

ที่มาข้อมูล : economictimes

ที่มารูปภาพ : Reuters

avatar

สุหัชชา สวัสดิพรพัลลภ