
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพอากาศ โพสต์ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวระบุว่า จากสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้มีมวลอากาศลอยขึ้นโดยมีอุณหภูมิสูงกว่าอากาศโดยรอบ จึงเป็นสาเหตุของการเกิดพายุฤดูร้อนในระยะนี้ ยิ่งร้อนพายุก็ยิ่งแรง โดยตลอดทั้งเดือนเมษายน ชาวสวนผลไม้จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษนะครับ
ผมได้แนบการคาดการณ์ ดัชนี CAPE (ดัชนีบ่งชี้ความเสี่ยงพายุฤดูร้อน) จากพลังงานศักย์ในชั้นบรรยากาศที่ทำให้เกิดการพาความร้อน โดยเฉดสีส้มแดง เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงพายุรุนแรง พื้นที่ใดมีความชื้นสูงก็จะมีฝนตามมาด้วยน่ะครับ โดยภาพรวมทุกๆวันพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงนะครับ
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพอากาศ

สรุปข่าว
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 29 มี.ค.-1 เม.ย.68 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนเกษตรกรควรเสริมความแข็งแรงให้ไม้ผล และเตรียมการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไว้ด้วย
ที่มาข้อมูล : ดร.เสรี ศุภราทิตย์
ที่มารูปภาพ : Envato

วาสนา ชูติสินธุ