
เพจ Facebook ของ รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตรได้ระบุว่าเช้านี้ (16ก.พ. 68) เอลนีโญอาจกลับมาปลายปี 68 เดือน ม.ค. 2568 โลกเดือด! อุณหภูมิโลกทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 176 ปี ลานีญาลดกำลังลง และน่าจะสิ้นสุด ก.พ. 68 และจะกลับสู่เฟสกลางตั้งแต่ มี.ค. 68 โดยปริมาณฝนมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยช่วง เม.ย.-พ.ค. 68 ฤดูร้อนน่าจะไม่แล้งมาก ขณะที่ช่วง มิ.ย.-ส.ค. 68 หลายพื้นที่ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติและเสี่ยงต่อภาวะฝนทิ้งช่วง และสัญญาเอลนีโญจะเริ่มชัดขึ้นตั้งแต่ ส.ค. 68 – ก.พ. 69
ล่าสุดองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) รายงานว่าอุณหภูมิช่วง ม.ค. 68 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 176 ปี เมื่อกับช่วงเดือน ม.ค. ในอดีต โดยอุณหภูมิภาคพื้นดิน (Land Temperature) สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 2.25 องศาเซลเซียส นอกจากนั้น ทะเลก็เดือดขึ้น โดยอุณหภูมิในมหาสมุทร (Ocean Temperature) สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.03 องศาเซลเซียส
ภาพที่ 2 ทาง Climate Prediction Center (NOAA) รายงานว่า ความน่าจะเป็นที่จะเกิดลานีญาเท่ากับ 95% (ภาพซ้ายแท่งสีน้ำเงิน) และได้ทำจุดสูงสุดไปแล้วในเดือน ม.ค. 68 โดยลานีญาจะลดกำลังในเดือน ก.พ. 68 ซึ่งกำลังลานีญาจะอยู่ในระดับอ่อนมากที่สุด (ภาพขวาแท่งสีฟ้าอ่อน) และเปลี่ยนเข้าสู่เฟสกลางช่วง มี.ค. 68 ทั้งนี้กำลังและความน่าจะเป็นของเอลนีโญ (แท่งสีแดง) เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ เม.ย.-พ.ย. 68 คงต้องจับตามดูกันต่อไป โดยภาพรวมยังเป็นเฟสกลางช่วง เม.ย.-พ.ย. 68

สรุปข่าว
รศ.ดร.วิษณุเตือนว่าเอลนีโญอาจกลับมาปลายปี 2568 หลังจากเดือนมกราคมอุณหภูมิโลกสูงสุดในรอบ 176 ปี คาดว่าในช่วงมี.ค.-พ.ค. 2568 ฝนจะมากกว่าปกติ แต่มิ.ย.-ส.ค. ฝนจะน้อยกว่าปกติ เตรียมรับมือกับภัยแล้งและสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยการวางแผนการใช้น้ำให้ดี และกักเก็บน้ำฝนในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2568 เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากเอลนีโญในอนาคต
ภาพที่ 3 ทางศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (ECMWF) พยากรณ์ว่าปรากฎการณ์ลานีญาจะลดกำลังลง และน่าจะสิ้นสุดในเดือน ก.พ. 68 จากนั้นจะกลับเข้าสู่เฟสกลางช่วง มี.ค.-ก.ย. 68 โดยช่วง ต.ค. 68 – ก.พ. 69 ปรากฏการเอลนีโญอาจจะกลับเริ่มเห็นสัญญาณเอลนีโญตั้งแต่ ส.ค. 68 เป็นต้นไป จากอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวน้ำทะเลที่จะเพิ่มขึ้นเกิน +0.5°C โดย 9 จาก 15 แบบจำลองพยากรณ์ว่าเอลนีโญจะกลับมา คงต้องติดตามกันต่อไป
ภาพที่ 4 บ่งชี้ว่าเดือน มี.ค. 68 ค่าเฉลี่ยผลพยากรณ์ของสำนักอุตุนิยมวิทยา 13 สำนักทั่วโลกบ่งชี้ว่าปริมาณฝนมีแนวโน้มเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้และภาคตะวันตก (ประจวบคีรีขันธ์และบางส่วนของกาญจนบุรี) (พื้นที่สีเขียวอ่อน) ขณะที่เดือน เม.ย. 68 ปริมาณฝนมีแนวโน้มมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยในเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย (พื้นที่สีเขียวอ่อน) ยกเว้นบึงกาฬที่ปริมาณฝนจะเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติ ฤดูร้อนปีนี้น่าจะไม่ร้อนมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ภาพที่ 5 บ่งชี้ว่า เดือน พ.ค. 68 ปริมาณฝนมีแนวโน้มมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติต่อเนื่องจากเดือน เม.ย. 68 ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย (พื้นที่สีเขียว) พื้นที่บางส่วนของแม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี อาจจมีฝนมากกว่าจังหวัดอื่น ฤดูฝนมีแนวโน้มมาเร็วกว่าปกติ ขณะที่เดือน มิ.ย. 68 ปริมาณฝนมีแนวโน้มเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในภาคกลาง อีสาน และเหนือบางส่วน (พื้นที่สีขาว) ขณะที่ภาคตะวันออก ใต้ และเหนือตอนบน (สีส้ม) ปริมาณฝนมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ (ยกเว้นน่าน และบางส่วนของเชียงราย แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์) โดยภาคตะวันตกบางส่วน (กาญจนบุรี) ฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย
ภาพที่ 6 บ่งชี้ว่า เดือน ก.ค. 68 ปริมาณฝนมีแนวโน้มเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในภาคอีสานและภาคกลางบางส่วน (พื้นที่สีขาว) ขณะที่ภาคเหนือ ตะวันตก ตะวันออก กลางตอนล่าง และใต้ตอนบน (พื้นที่สีส้ม ยิ่งสีส้มเข้มยิ่งฝนน้อยกว่าปกติ) ส่วนเดือน ส.ค. 68 แนวโน้มคล้ายกับเดือน ก.ค. 68 โดยปริมาณฝนมีแนวโน้มเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในภาคอีสาน (ยกเว้นอุบลฯ ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ) และภาคกลางบางส่วน (พื้นที่สีขาว) ขณะที่ภาคเหนือ ตะวันตก ตะวันออก กลางตอนล่าง และใต้ตอนบน (พื้นที่สีส้ม ยิ่งสีส้มเข้มยิ่งฝนน้อยกว่าปกติ)

ภาพที่ 7 IRI มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา พยากรณ์ว่าช่วง มี.ค.-พ.ค. 68 ปริมาณฝนมีแนวโน้มมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ (พื้นที่สีเขียว) ในทุกภูมิภาค ฤดูแล้งปีนี้น่าจะไม่แล้งมาก แต่อุณหภูมิจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และช่วง พ.ค.-ส.ค. 68 พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีฝนเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติ (พื้นที่สีขาว) ยกเว้นเหนือตอนบนที่จะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยช่วง พ.ค.-ก.ค. 68 เริ่มเห็นสัญญาณฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในภาคใต้ (พื้นที่สีเหลือง) จากอิทธิพลจากเอลนีโญเริ่มเพิ่มขึ้น
เตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่จะแปรปรวนมากในปี 2568 ด้วยความไม่ประมาทกันนะครับ ต้องวางแผนเรื่องการใช้น้ำให้ดี เตรียมกักเก็บน้ำฝนช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2568 โดยเฉพาะพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปริมาณฝนที่จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และวางแผนการกักเก็บและใช้น้ำข้ามปีเพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจจะเกิดขึ้นช่วงปลายปี
ที่มาข้อมูล : Witsanu Attavanich
ที่มารูปภาพ : Canva