ยึด "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" 256 ตัน ลักลอบนำเข้าไทย 10 ตู้คอนเทนเนอร์
สรุปข่าว
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากรเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์
โดยจากการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดพบว่า อาจมีการนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 3 และ 6 มกราคม 2568 กองสืบสวนและปราบปรามร่วมกับสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงทำการตรวจสอบตู้สินค้าต้องสงสัย จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งพบว่า มีการแสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็น "เศษโลหะและโลหะเก่าใช้แล้ว" เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำการอายัดตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบโดยละเอียด
และผลการตรวจสอบพบว่า สินค้ามีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น 9 ตู้ และฮ่องกง 1 ตู้ ภายในพบ "เศษชิ้นส่วนอุปกรณ์ หรือส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไม่ได้ มีสภาพเป็นเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณกว่า 256,320 กิโลกรัม ซึ่งสินค้าดังกล่าว ถือเป็นของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ และถือเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และละเมิดอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน
สำหรับสถิติการจับกุมของที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 - 14 มกราคม 2568) ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 19 คดี น้ำหนัก 256,643 กิโลกรัม เศษพลาสติก 6 คดี น้ำหนัก 322,980 กิโลกรัม รวมทั้งหมด 25 คดี น้ำหนัก 579,623 กิโลกรัม
ทั้งนี้ กรมศุลกากรยังเฝ้าระวังสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนอื่น ๆ ด้วย เช่น เศษพลาสติก ซึ่งเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 รวมถึงขยะเทศบาล เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลก เริ่มมีขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ต้นทุนการทำลายแพง จึงหาช่องทางส่งมายังลักลอบส่งไปทิ้งยังประเทศอื่นทั่วโลก
ภาพ: กรมศุลกากร : The Customs Department
ที่มาข้อมูล : หาเอง/ตัดต่อเอง
ที่มารูปภาพ : -