"ดร.สนธิ" เผย "สุโขทัย" อ่วม เผยสาเหตุทำไมน้ำท่วมทุกปี

"ดร.สนธิ" เผย "สุโขทัย" อ่วม เผยสาเหตุทำไมน้ำท่วมทุกปี

สรุปข่าว

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “สุโขทัยอ่วม” น้ำท่วมทุกปี เพราะอะไร?


1.    แม่น้ำยม เป็นแม่น้ำแห่งเดียวในพื้นที่ภาคเหนือที่ไม่มีเขื่อนกั้นไหลผ่านกลางจังหวัดสุโขทัย หากมีฝนตกหนักในปริมาณมาก มวลน้ำมหาศาลจะไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยซึ่งถือ ว่าเป็นพื้นที่รับน้ำจากจังหวัดแพร่ และพะเยา สำหรับแม่น้ำยมกำเนิดที่เทือกเขาผีปันน้ำในจังหวัดพะเยา และไหลผ่านลำปางบางส่วน และเข้าสู่แพร่ หากมีพายุเข้าหรือมีร่องมรสุมกำลังแรงทำให้ฝนตกปริมาณมาก น้ำจะไหลผ่านจากแพร่เข้าสู่สุโขทัยทั้งหมด เนื่องจากแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายเดียวในภาคเหนือที่ไม่มีเขื่อนกั้น โดยจะไหลผ่านสุโขทัยใน 5 อำเภอจาก 9 อำเภอเรียงลำดับ ได้แก่ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.เมืองสุโขทัย และอ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ระยะทาง 170 กม. และจะไหลลงสู่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก 



2.    สุโขทัยมีประตูระบายน้ำที่เดียว คือที่บ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก โดยสามารถกั้นและกักเก็บน้ำได้ 13 ล้านลูกบาศก์เมตรทำหน้าที่กั้นแม่น้ำยมเพื่อผันน้ำออกไปตามคลองต่างๆ ลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองให้เหลือไม่เกิน 700 ลบ.ม./วินาที หากปริมาณน้ำมาก ก็จะให้ไหลไปรวมที่ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย และ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อตัดน้ำออกให้ท่วมชุมชนน้อยลง เรียกว่า บางระกำโมเดล รับน้ำได้ถึง 550 ล้านลูกบาศก์เมตรมีพื้นที่รับน้ำ 382,000 ไร่โดยพื้นที่นี้เคยรับน้ำตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน เมื่อถึงฤดูหน้าน้ำชาวบ้านจะขอให้มีน้ำท่วมสูงถึง 1.20 เมตร นาน4 เดือนเพราะมีอาชีพหาปลา ทำประมง จับหนู จับงู ส่วนอีก 8 เดือนจะทำนา 2 ครั้ง ซึ่งทำแบบนี้ทุกๆ ปี


3.    ภูมิประเทศของจังหวัดสุโขทัยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มโดยตอนเหนือเป็นที่ราบ สูงมีภูเขายาวเป็นพืดพาดมาทางทิศตะวันตก พื้นที่ตอนกลางเป็นที่ราบแอ่งกะทะทำ ให้มวลน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงไหลมารวมกันในจ.สุโขทัย เช่น น้ำไหลจาก จ.กำแพงเพชรไหลเข้าสู่ อ.คีรีมาศ ตอนล่างของจ.สุโขทัย น้ำจาก อ.เถิน จ.ลำปางไหลเข้าสู่ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย น้ำจาก อ.เถิน จ. ลำปาง ไหลเข้าอ.เมือง จ.สุโขทัย นอกจากนี้มีแม่น้ำยมไหลผ่านกลางจังหวัด หากปริมาณน้ำยมไหลมาถึง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และหากมีปริมาณมากกว่า 1,300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะทำให้น้ำท่วมล้นตลิ่งและท่วมชุมชน เนื่องจากซึ่งศักยภาพการระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่างรองรับได้ประมาณ 800 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีเท่านั้น แต่ขณะนี้น้ำยมไหลจากจ.แพร่มาด้วยอัตรา 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


4.    น้ำปริมาณมากที่มาเร็วและแรง ทำให้พนังกั้นน้ำแม่น้ำยมที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนใหญ่จะเกิดการแตกร้าวและพังทลายในหลายจุดทุกปี จึงทำให้น้ำท่วมรุนแรงไหลถึงชุมชนมากขึ้น



ที่มา: Sonthi Kotchawat


ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ