
ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการรักษาความปลอดภัย ระบบไบโอเมตริกซ์ (Biometric) กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการยืนยันตัวตน และ ป้องกันอาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าประเทศไทยไม่ได้ใช้ระบบไบโอเมตริกซ์มาแล้วกว่า 3 ปี เนื่องจากหมดอายุ ส่งผลให้การเก็บข้อมูลและอัตลักษณ์บุคคลของนักท่องเที่ยวกว่า 17 ล้านคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศอาจเกิดความคลาดเคลื่อน นำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับช่องโหว่ด้านความปลอดภัยและอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้อาชญากรรมข้ามชาติใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการก่อเหตุ
ในเรื่องดังกล่าว ล่าสุดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้าน ทั้งนี้ ระบบไบโอเมตริกซ์มีบทบาทสำคัญอย่างไร และผลกระทบของการขาดระบบนี้ต่อความมั่นคงของประเทศมีอะไรบ้าง บทความนี้จะพาไปเจาะลึกข้อมูลทั้งหมด

สรุปข่าว
ไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) คืออะไร?
ไบโอเมตริกซ์ หรือ "ข้อมูลชีวภาพ" (บางแห่งเรียกว่า "ข้อมูลชีวมาตร") เป็นข้อมูลเฉพาะที่สามารถใช้ยืนยันตัวบุคคลผ่านลักษณะพิเศษที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน เช่น ใบหน้า ม่านตา ลายนิ้วมือ ดีเอ็นเอ ตลอดจน พฤติกรรมท่าทางอันได้แก่ เสียงพูด ลายเซ็น วิธีเดิน แผลเป็น
ในกฎหมาย PDPA ของไทย คำว่า "ข้อมูลชีวภาพ" หมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ลักษณะเด่นของบุคคล เพื่อยืนยันตัวตน เช่น ภาพจำลองใบหน้า ม่านตา หรือลายนิ้วมือ
ในปัจจุบัน มีการนำเอาไบโอเมตริกซ์มาใช้ในภาคธุรกิจและหน่วยงาน และ ใช้ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยถูกนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ธุรกรรมทางการเงิน, ระบบการลงทะเบียนยืนยันตัวตน, ควบคุมการเข้าออกพื้นที่สำคัญ หรือแม้กระทั่ง ตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความเป็นทายาท
ไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) ช่วยรักษาความปลอดภัย และ การเดินทางได้อย่างไร?
ไบโอเมตริกซ์ สามารถนำมาใช้ในขอวีซ่า และ หนังสือเดินทาง สแกนใบหน้า ลายนิ้วมือ สีตา สีผม และ ลักษณะพิเศษอื่น ๆ ตรวจสอบบุคคลต้องสงสัยช้ระบบเฝ้าระวัง AI เพื่อจับคู่ใบหน้ากับฐานข้อมูลอาชญากร
นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบบุคคลเข้าเมืองในสนามบิน จดจำใบหน้า ลักษณะการเดิน หรือโครงสร้างร่างกาย
ปัจจุบัน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ได้นำระบบ Biometric มาใช้ในสนามบินหลัก 6 แห่ง ได้แก่
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
- ท่าอากาศยานดอนเมือง
- ท่าอากาศยานเชียงใหม่
- ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย
- ท่าอากาศยานภูเก็ต
- ท่าอากาศยานหาดใหญ่
การใช้งาน Biometric ในสนามบินสำคัญอย่างไร ?
เทคโนโลยี Biometric สามารถช่วยอำนวยความสะดวก เช็กอินและโหลดกระเป๋า ลดความยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องใช้เอกสาร ไม่ต้องพกพาสปอร์ตหรือบัตรประชาชนบ่อยครั้ง เพียงสแกนใบหน้า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความเร็วในการตรวจสอบ ลดเวลารอคิวผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ลดความเสี่ยงจากการใช้เอกสารปลอม
Biometric ถูกนำไปใช้ในสนามบินหลักหลายแห่งทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา Los Angeles International Airport (LAX), ยุโรป Heathrow Airport (ลอนดอน), เอเชีย: Changi Airport (สิงคโปร์)
สรุปแล้ว ไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการยืนยันตัวตน ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายให้กับการเดินทาง รวมถึงการดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัล ปัจจุบันมีการนำระบบนี้มาใช้ในหลายภาคส่วน เช่น การควบคุมคนเข้าเมือง ธุรกรรมทางการเงิน การเข้าถึงพื้นที่สำคัญ และการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลเพื่อลดความเสี่ยงด้านอาชญากรรม
ในกรณีของประเทศไทย แม้ว่าจะมีรายงานว่าระบบไบโอเมตริกซ์ที่ใช้ในด่านตรวจคนเข้าเมืองหมดอายุไปแล้วกว่า 3 ปี ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ แต่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กำลังดำเนินการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริง ทั้งนี้ การเร่งนำเทคโนโลยีดังกล่าวกลับมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยเสริมสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัย ลดช่องโหว่ของอาชญากรรมข้ามชาติ และยกระดับมาตรฐานการเดินทางในประเทศให้ทัดเทียมกับระดับสากล
ด้วยประโยชน์ที่หลากหลายของ Biometric เทคโนโลยีนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการตรวจสอบบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญสู่การรักษาความมั่นคงและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมในอนาคต
ที่มาข้อมูล : PDPATHAILAND
ที่มารูปภาพ : freepix