หม่องชิต ตู่ ประกาศกวาดล้างแก๊งคอลฯ ให้สิ้นซากภายใน ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ศูนย์บัญชาการรักษาความปลอดภัย กองบัญชาการบีจีเอฟ ประเทศเมียนมา พลตรีหม่องชิต ตู่ เลขาธิการบีจีเอฟ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมียนมาและไทย เกี่ยวกับการดำเนินการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่สีเทาของเมียนมา ตั้งแต่ทางเหนือของเมืองเมียวดีไปจนถึงทางใต้ รวมถึงการส่งตัวเหยื่อกลับประเทศต้นทางผ่านทางประเทศไทย โดยมีนายทหารระดับสูงของบีจีเอฟ ร่วมรับฟังการแถลงข่าว

พล.ต.หม่องชิต ตู่ ยืนยันว่า ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ หรือมีผลประโยชน์ใด ๆ กับกลุ่มเหล่านี้ นอกจากได้รับค่าเช่าที่ดินในอัตรา 50,000 - 100,000 บาทต่อเอเคอร์ จากโครงการให้เช่าที่ดินซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2018 โดยเป็นการร่วมลงทุนผ่านบริษัท หย้าไถ่ ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมา และดำเนินการตามกฎหมายตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม ภายหลังการระบาดของโควิด-19 ได้พบว่าผู้เช่าบางรายเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปสู่การหลอกลวงทางออนไลน์ ทำให้เกิดความเสียหายและเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่พื้นที่ดังกล่าว



หม่องชิต ตู่ ประกาศกวาดล้างแก๊งคอลฯ ให้สิ้นซากภายใน ก.พ.นี้

สรุปข่าว

พล.ต.หม่องชิต ตู่ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บีจีเอฟ ได้ดำเนินการกวาดล้างอย่างเข้มข้น และตั้งเป้าจะกำจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้หมดสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเน้นย้ำถึงการกวาดล้างในพื้นที่สำคัญอย่างชเวโก๊กโก่ เคเคปาร์ค และเมียวดี พร้อมจัดกำลังทหารลงพื้นที่อย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ พล.ต.หม่องชิต ตู่ ระบุว่า รัฐบาลเมียนมาได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกรุงเนปิดอว์เข้ามาดำเนินคดีและบันทึกประวัติของผู้ถูกจับกุม หลังจากนั้นแต่ละประเทศจะต้องเข้ามารับตัวพลเมืองของตนกลับไป โดยในขณะนี้มีชาวอินโดนีเซียจำนวน 61 คน ที่ยังไม่สามารถติดต่อสถานทูตเพื่อดำเนินการส่งตัวกลับประเทศได้ ขณะที่ทางการจีนเตรียมนำเครื่องบินมารับพลเมืองของตนกลับจากสนามบินแม่สอด

พล.ต.หม่องชิต ตู่ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้านของไทยเสนอให้ออกหมายจับตนเอง โดยระบุว่ารู้สึกเสียใจและไม่เข้าใจว่าตนเองทำผิดกฎหมายไทยข้อใด หรือได้ละเมิดสิทธิของประชาชนไทยในเรื่องใด พร้อมย้ำว่า ตนเองอาศัยอยู่บริเวณชายแดนมานานกว่า 30 ปี และให้ความร่วมมือกับทางการไทยมาโดยตลอด เช่น การช่วยติดตามและส่งตัวแรงงานไทยที่ถูกล่อลวงไปยังเมียนมา รวมถึงการประสานงานในคดีอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น คดีฆาตกรรมชาวจีนในชลบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยขอความร่วมมือในการติดตามตัวผู้กระทำผิดจนสามารถส่งตัวกลับไทยได้


ที่มาข้อมูล : TNN เรียบเรียง

ที่มารูปภาพ : ผู้สื่อข่าว จ.ตาก