
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยผลการดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ล่าสุดสามารถช่วยเหลือ และ ส่งคืนเหยื่อหลายร้อยรายกลับประเทศต้นทาง โดย พล.ต.อ. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์และศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุว่ามาตรการดังกล่าวให้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ข้อมูลจาก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หนึ่งในเส้นทางหลักที่ใช้ข้ามพรมแดน พบว่ามีชาวต่างชาติหลายรายเดินทางเข้าออกบ่อยครั้งโดยไม่มีแผนการท่องเที่ยวชัดเจน ตำรวจจึงได้ตรวจสอบย้อนหลังเพื่อติดตามว่าเดินทางกลับออกมาหรือไม่
ทั้งนี้ พบว่าผู้ที่เดินทางข้ามพรมแดนส่วนใหญ่สมัครใจเดินทางไปเอง และ ยืนยันว่าไม่มีการถูกหลอกในประเทศไทย สำหรับผู้ที่ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาจเป็นการหลอกให้ไปทำงาน โดยแจ้งว่าเป็นงานอีกประเภท โดยผู้ที่ไปเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา นอกจากไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้วยังไปทำงานอื่น ๆ อีก อาทิเช่น เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ โรงแรม ร้านอาหาร และบ่อนพนันออนไลน์
พล.ต.อ. ธัชชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กลุ่มที่ถูกหลอกจริง ๆ มีสัดส่วนน้อยเพียง 1 - 2% เช่น กรณีดาราชาวจีนที่ตกเป็นข่าว ส่วนใหญ่เดินทางไปด้วยความสมัครใจ

สรุปข่าว
สำหรับมาตรการคัดกรองเหยื่อ ปัจจุบันตำรวจใช้กลไก National Referral Mechanism (NRM) และข้อมูลจากสถานทูตต่าง ๆ มาวิเคราะห์ร่วมกัน ล่าสุด ในกลุ่มผู้ถูกส่งตัวกลับ 260 ราย พบว่ามีผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์แฝงตัวมาอ้างเป็นเหยื่อ
"ประเทศไทยมีระบบที่ดีในการคัดแยกเหยื่อกับมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามา เราจะไม่ยอมให้คนที่ไปหลอกคนอื่นกลับมาอ้างตัวเป็นเหยื่อ เพราะถือว่าไม่ยุติธรรม" พล.ต.อ. ธัชชัย กล่าว
เตรียมเชิญทูตต่างประเทศหารือแนวทางช่วยเหลือเหยื่อ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตรียมเชิญทูตจากหลายประเทศเข้าร่วมประชุมในวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับประชากรในชาติตัวเองกลับประเทศ
พล.ต.อ. ธัชชัย ย้ำว่า ไม่ใช่ทุกคนที่กลับเข้ามาในประเทศไทยจะถูกจัดเป็นเหยื่อ ตำรวจจะคัดกรองอย่างละเอียดเพื่อป้องกันการแฝงตัวของกลุ่มมิจฉาชีพ พร้อมขยายผลปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีเครือข่ายในเมียนมา ลาว และกัมพูชาอย่างเข้มข้นต่อไป.