
เมื่อมังกรประสานมือเอกชนสู้เทรดวอร์ 2.0 (ตอน 3)
จีนเดินเกมให้ผู้นำและผู้บริหารระดับสูงพบปะหารือรับฟังปัญหาและความท้าทายจากภาคเอกชนของจีนและต่างชาติในจีนอย่างรัวๆ ในช่วงหลายเดือนหลัง มีอะไรเด็ดๆ ตามมาบ้าง ไปคุยกันต่อเลยครับ ...
ประการที่ 2 ในมิติด้านการลงทุน จีนพยายามตอกย้ำถึง “จุดขาย” ที่มีอยู่และสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต โดยที่จีนเป็นเวทีที่กว้างใหญ่สำหรับการพัฒนาธุรกิจ โอกาสทางการตลาดที่กว้างขวาง แนวโน้มนโยบายที่มั่นคง และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย จีนจึงเป็นตัวเลือกที่ชื่นชอบสำหรับการลงทุนและการดำเนินธุรกิจจากต่างประเทศ

สรุปข่าว
สี จิ้นผิง ตั้งข้อสังเกตถึงปาฎิหาริย์ 2 ประการ อันได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด และเสถียรภาพความมั่นคงทางสังคมที่ยั่งยืนของจีนที่สร้างขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานับแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ผู้นำจีนยังระบุว่า ปาฏิหาริย์ดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และความสามัคคีและการทุ่มเททำงานหนักของประชาชนชาวจีน ตลอดจนความสามัคคีและความช่วยเหลือของประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงการมีส่วนร่วมของธุรกิจต่างชาติในจีนที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน
สี จิ้นผิงกล่าวขอบคุณ “การปฏิรูปและการเปิดกว้าง” และที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์จากเงินทุนจากต่างประเทศ ทำให้จีนสามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศอย่างรวดเร็วและทันเวลา “ทั้งหมดทั้งปวงนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจต่างชาติเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนความทันสมัยของจีน ในการปฏิรูปและการเปิดประเทศและนวัตกรรม และในการเชื่อมโยงโลกและการบูรณาการเข้ากับโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ”
มองออกไปข้างหน้า จีนยังคงเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนใน “อุดมคติ ปลอดภัย และมีอนาคต” สำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยจีนเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง และจะยังคงเดินหน้า “เปิดประตู” ให้กว้างขึ้น
ผู้นำจีนกล่าวอย่างหนักแน่นในประเด็นนี้ว่า “นโยบายการต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศไม่ได้เปลี่ยนแปลงและจะไม่เปลี่ยนแปลง”
ท่ามกลางความท้าทายจากสงครามการค้า 2.0 ที่ขยายวง เราจึงน่าจะเห็นความมุ่งมั่นของจีนในการสนับสนุนที่จะขยายการเปิดประเทศเชิงสถาบัน เช่น กฎระเบียบ การจัดการ และมาตรฐาน โดยกระทรวงพาณิชย์จีน “รับลูก” ด้วยการประกาศการเปิดกว้างในหลายอุตสาหกรรม อาทิ โทรคมนาคม การดูแลสุขภาพ และการศึกษา
พร้อมการยกระดับการสนับสนุนองค์กรเอกชนและโครงการของต่างชาติในจีน อาทิ การเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างชาติเข้าร่วมการประมูลการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการของภาครัฐอย่างยุติธรรม
เราต้องยอมรับว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนานโยบาย กฎระเบียบ และขั้นตอนที่ดีสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้า และอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนผ่านโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่พร้อมสรรพ ชนิดที่ยากจะหาในประเทศอื่นใดในโลก รวมทั้งยังพยายามอย่างแข็งขันในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจชั้นยอดที่มุ่งเน้นตลาดตามหลักกฎหมายและเป็นสากล
ประการสำคัญ ด้วยนโยบายและมาตรการส่งเสริมระบบนิเวศของอุตสาหกรมเป้าหมายที่เป็นระบบและครบวงจร ทำให้จีนมีห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นสูง ขณะเดียวกัน ตลาดที่กว้างใหญ่และเติบโตอย่างต่อเนื่องของจีน ก็ทำให้บริษัทข้ามชาติหลายรายที่เข้าไปลงทุนในจีนทยอย “แยกห่วงโซ่อุปทาน” ออกจากสำนักงานใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ
ผมสังเกตเห็นการลงทุนของบริษัทข้ามชาติโดยใช้ปรัชญา “ในจีน เพื่อจีน” อาทิ Honeywell ของสหรัฐฯ Unilever ของสหราชอาณาจักร Volkswagen ของเยอรมนี และ Nissan ของญี่ปุ่นในศูนย์วิจัยและพัฒนา การผลิต การตลาด และบริการหลังการขาย รวมทั้งระบบสนับสนุน อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และลอจิสติกส์ในจีนเพื่อตลาดจีนและภูมิภาค
บางรายยังดำเนินนโยบาย “สินทรัพย์ของจีน ความเร็วของจีน และมาตรฐานของจีน” ใช้ฐานการผลิตในจีนที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพที่เหนือกว่าส่งสินค้าไป “เติมเต็ม” ตลาดที่รับผิดชอบโดยโรงงานผลิตเดิมในประเทศแม่ก็
มีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข้ามชาติหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษในครั้งนี้ถึงขนาดกล่าวว่า “จีนเป็นหัวใจสำคัญต่อกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจระดับโลกของกิจการข้ามชาติ”
ในประเด็นนี้ ผู้นำจีนกล่าวยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “นโยบายต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ (ของจีน) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงและจะไม่เปลี่ยนแปลง ... การโอบกอดจีนคือการเปิดรับโอกาส การเชื่อมั่นในจีนคือ การเชื่อมั่นในวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า และการลงทุนในจีนคือการลงทุนในอนาคต” (To invest in China is to invest in tomorrow)
ประการที่ 3 การจัดประชุมหารือในลักษณะ “Government-Business Dialogue” ในครั้งหลังนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณที่ดังและชัดเจนอีกครั้งว่า รัฐบาลจีนพร้อม “จับมือ” กับบริษัทข้ามชาติและองค์กรระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและบทบาทขององค์กรต่างชาติ รวมทั้งยังเพิ่มความเข้าใจและความรู้สึกร่วมต่อความมีชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจของจีน อันนำไปสู่ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในตลาดจีนท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น
ในประเด็นนี้ จีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นเสมือนการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การขยายการลงทุนโดยตรงในจีน และส่งผลดีต่อการเสริมสร้างเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับภาคการผลิตของจีนส่งท้ายนโยบาย Made in China ในปี 2025 และส่งไม้ต่อสู่นโยบาย New-Quality Productive Forces ในอนาคต
ในส่วนของภาคเอกชนที่เข้าร่วมประชุม ส่วนใหญ่แสดงท่าทีเชิงบวกต่อหลายกิจกรรมพิเศษดังกล่าวยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารของ Apple ยอมรับว่า ตลอด 30 ปีของการลงทุนในจีน “จีนเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลเจียงซูและซานตง และวางแผนที่จะลงทุนในจีนอยู่ต่อไป
อ่านภาคจบตอนต่อไปครับ ...
ที่มาข้อมูล : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
ที่มารูปภาพ : AFP