เมื่อจีนเอาชนะคู่แข่งด้วย “ความเร็ว” (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนเอาชนะคู่แข่งด้วย “ความเร็ว” (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สรุปข่าว

ในระดับจุลภาค ความรวดเร็วของจีนก็แผ่ซ่านไปในหลากหลายธุรกิจเช่นเดียวกัน ...


มีคำถามเกิดขึ้นว่า อะไรบ้างที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าธุรกิจกำลังล้มเหลวในเกมความเร็ว สำหรับผมแล้ว หากธุรกิจเริ่มตกอยู่ในสถานการณ์เฉพาะที่มีกฎเกณฑ์ ระบบ และกระบวนการที่ไม่ยืดหยุ่น มีรอบการตัดสินใจที่ยาวนาน มุ่งเน้นการบริหารงานที่สำนักงานใหญ่มากกว่าเน้นตลาดลูกค้า/ภูมิภาค และขาดความร่วมมือและการประสานงานระหว่างแต่ละแผนกและภูมิศาสตร์


การตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค อาทิ ด้านสินค้าใหม่หรือบริการหลังการขาย ที่ใช้เวลานานกว่าของคู่แข่งขัน ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงภยันตรายที่คืบคลานเข้ามาสู่ธุรกิจ


นอกจากนี้ ผู้บริหารบางส่วนยังอาจมีลักษณะค่อนข้าง “อนุรักษ์นิยม” และไม่ต้องการเผชิญหน้ากับความเสี่ยง หากธุรกิจให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอยู่เสมอแล้วล่ะก็ ก็อาจกลายเป็นว่า ธุรกิจอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะถูก “เขมือบ” จากปลาที่คล่องแคล่วรวดเร็วกว่าได้


โดยในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นภาคเอกชนของจีนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในทุกระดับ ไล่ตั้งแต่การเจรจา การก่อสร้างโรงงาน การจัดตั้งองค์กร การสรรหาทีมงาน การพัฒนาและวิจัย การผลิต การตลาด และลอจิสติกส์ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค


เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของบ้านเมือง การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่สั้นลง และพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องจนยากจะจดจำ แถมยังมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นทุกขณะ


เมื่อปลายปี 2024 เทสลา (Tesla) ได้สร้างสถิติใหม่ของการก่อสร้างโรงงานขนาดยักษ์แห่งที่ 2 ในเขตพิเศษหลินกั่ง (Lingang Special Area) เขตผู่ตง (Pudong) ด้านซีกตะวันออกเฉียงใต้ของนครเซี่ยงไฮ้ โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง “เมกะแพ็ก” (Megapack) เพียง 7 เดือนเท่านั้น ลบสถิติเดิมที่เคยทำไว้ 10 เดือนเมื่อไม่กี่ปีก่อนลงได้อย่างสิ้นเชิง


ทั้งนี้ โรงงานใหม่นี้จะเริ่มเดินสายการผลิตแบตเตอรี่เก็บพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 40 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) จำนวน 10,000 ชิ้นต่อปีเพื่อป้อนตลาดโลกได้ในไตรมาสแรกของปี 2025


โรงงานที่ใช้เวลาในการก่อสร้างด้วย “ความเร็ว” เช่นนี้ ไม่เพียงทำให้ภาคธุรกิจสามารถเริ่มผลิตและสร้างรายได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมไฮเทคที่ “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิตัลอีกด้วย


ขณะเดียวกัน โดยที่ “ความเร็ว” ในการทำวิจัยและพัฒนานับเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จเบื้องต้นในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการที่สลับซับซ้อน


การคิดในแง่ของการส่งมอบเชิงกลยุทธ์ยังจะช่วยส่งเสริมความชัดเจนในกระบวนการที่ยุ่งยากและปลดล็อคนักคิดในช่วงเวลาที่ติดขัดระหว่างกระบวนการวิจัยเชิงพาณิชย์อีกด้วย


การลดกระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการเป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้ประกอบการจีนนิยมใช้ โดยกิจการต่างให้ความสําคัญกับการลดทอนกระบวนการพัฒนาเพื่อดําเนินการมให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด


ผู้ผลิตเกมออนไลน์ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ โดยแทนที่จะเลือกทดสอบคุณสมบัติและความพร้อมของเกมด้วยวิธีการทั่วไป ผู้พัฒนาเกมของจีนเลือกใช้วิธีเข้าถึงผลลัพธ์โดยตรงผ่านการ


ผลิตเอกสารโฆษณาที่จำลองการเล่นเกมใหม่และการทดสอบ A/B ของการตอบสนอง เมื่อได้ผู้ชนะที่ชัดเจนแล้ว บริษัทก็ได้รับคำตอบสำหรับการสร้างคุณสมบัติที่เหมาะสมเพื่อความสะดวกของผู้เล่นเกมในอนาคต


ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องดื่ม “เกงกิฟอเรสต์” (Genki Forest) ซึ่งเคยสั่งสมประสบการณ์ในบริษัทเกมอยู่นาน ก็นำเอาแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เช่นกัน ทำให้บริษัทสามารถพัฒนารสชาติและนวัตกรรมเครื่องดื่มได้รวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเข้าสู่ตลาดโดยตรงผ่านโครงการนำร่อง แทนการทดสอบวิจัยกับผู้บริโภคเป้าหมาย ทำให้สามารถฉกฉวย “โอกาส” ในการเข้าสู่ตลาดก่อนคู่แข่งขัน


นั่นเท่ากับว่า ในด้านหนึ่ง ความเร็วเป็น “โอกาส” ในการบุกเบิกตลาดและเอาชนะคู่แข่งขัน ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและครองตลาด


แต่ในอีกด้านหนึ่ง การ “มองข้าม” ศักยภาพที่แท้จริงของความเร็วก็อาจกลับกลายเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อความลึกในเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ “ประสิทธิภาพ” เป็นหัวใจในการแข่งขัน และการคว้าโอกาสและออกจากภัยคุกคามอย่างมุ่งมั่นและรวดเร็วถือเป็นจุดเด่นขององค์กรในจีน


กิจการข้ามชาติแห่งหนึ่งในจีนมีความสามารถในการประสานงานผ่านโครงสร้างองค์กรแบบแมทริกซ์ (Matrix) แต่ก็ยังคงพบว่าบริษัทดำเนินการในบางส่วนล่าช้าและยืดหยุ่นเกินไป จนไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่รวดเร็วและการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของลูกค้าหลักในจีน


แถมลูกค้าหลักของธุรกิจดังกล่าวได้แก่ อาลีบาบา (Alibaba) หัวเหว่ย (Huawei) เทนเซ็นต์ (Tencent) และเสียวหมี่ (Xiaomi) ก็ถือเป็นกิจการขนาดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของจีนในยุคอินเทอร์เน็ตที่ “ความเร็ว” เป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขัน


โชคดีที่บริษัทข้ามชาติรายนี้ตระหนักว่า ความสามารถในการบรรลุแนวทางและเป้าหมายเดียวกันกับลูกค้าหลักดังกล่าวถือเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องมีทั้งโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมเพื่อการทํางานไปสู่เป้าหมาย และมีมาตรฐานความร่วมมือที่สูงขึ้นและเหนือกว่ามาตรฐานระดับโลกในปัจจุบันที่บริษัทฯ ใช้อยู่


หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความร่วมมือดังกล่าวยังไม่ควรเกิดขึ้นเฉพาะในส่วนงานและพื้นที่ภายในองค์กรเท่านั้น แต่ควรเกิดขึ้นกับภายนอกควบคู่ไปด้วย


นอกจากนี้ ผู้บริหารยังเห็นว่า การขยายความร่วมมือกับเครือข่ายภายนอกอาจสามารถดำเนินการผ่านการสนับสนุนทางเทคนิคและการรับรองแบรนด์แก่ชุมชนเครือข่ายโดยคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาว แทนที่จะเป็นผลตอบแทนในระยะสั้น


บทเรียนที่ได้จากเรื่องนี้ก็คือ หากต้องการให้กลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่มีประสิทธิผลดี กิจการ จำเป็นต้องมี “มาตรฐานจีน” ในด้านความเร็วและความคล่องตัวขององค์กร เนื่องจากลูกค้ารายสำคัญต่างปฏิบัติตามกระบวนการของการวนซ้ำและเรียนรู้จากความล้มเหลวอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้ทำให้องค์กรในจีนต่างต้องมีความคล่องตัวสูง


อ่านต่อตอนหน้าครับ ...



ที่มาข้อมูล : อื่น ๆ

ที่มารูปภาพ : -

ผู้สื่อข่าวมากประสบการณ์ของ TNN Thailand ที่เชี่ยวชาญด้าน เทคโนโลยี มีประสบการณ์ในวงการสื่อสารมวลชนกว่า 15 ปี

แท็กบทความ