
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศ ยกเลิกกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร และเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า จากการประเมินสถานการณ์แล้ว เห็นว่าสถานการณ์ในภาพรวมได้คลี่คลาย อีกทั้งผลกระทบต่อประชาชน ความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เส้นทางคมนาคม และการให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่กลับสู่ภาวะปกติ โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตสามารถดำเนินการจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ได้

สรุปข่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงความคืบหน้าผลกระทบเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ข้อมูลจนถึงช่วงเย็นเมื่อวานนี้(31 มี.ค.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 33 ราย เสียชีวิต 19 ราย ส่วนการค้นหาผู้สูญหาย เหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) แห่งใหม่ที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างพังถล่มลงมา จนถึงช่วงเที่ยงเมื่อวานนี้(31 มี.ค.) สามารถนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาได้อีก 1 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้เพิ่มเป็น 12 ราย และแม้ว่าขณะนี้จะผ่านช่วงเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งตามหลักการทางการแพทย์ถือว่ามีโอกาสในการรอดชีวิตค่อนข้างน้อย แต่ก็จะยังไม่ยุติการค้นหา และจะเร่งการทำงานเพื่อให้เข้าถึงผู้ที่รอดชีวิตให้เร็วที่สุด ส่วนการประกาศยกเลิกสาธารณภัยระดับ 2 จะย้ายศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กลาง จากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ไปรวมกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์หน้างานในพื้นที่เขตจตุจักร ซึ่งจะทำให้สามารถกำกับควบคุมสถานการณ์ได้ และขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการจราจรในบริเวณนั้นก่อน
ส่วนการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ตลอดจนวิศวกรของกทม. ยังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีการแจ้งเหตุอาคารที่มีรอยร้าวจำนวน 14,430 กรณี มีการตรวจสอบเหลือเพียง 2,426 กรณี เป็นอาคารสีเขียว 11,517 กรณี โดยมีการแจ้งระงับการใช้อาคาร ซึ่งเป็นอาคารที่มีความเสี่ยงสูงเพียง 2 อาคาร และได้จัดหาที่พักให้ผู้อาศัยทั้งหมดแล้ว
ที่มาข้อมูล : FB กรุงเทพมหานคร
ที่มารูปภาพ : FB กรุงเทพมหานคร

ไพโรจน์ รุ่งเรือง