ชี้ประกาศใช้เกณฑ์โคเพย์เมนท์ 1 มี.ค. 68 กระทบหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลจำกัด
บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า กรณีที่รัฐบาลประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.68 เป็นต้นไป จะนำเงื่อนไขการให้มีค่าใช้จ่ายร่วม หรือ copayment ซึ่งในการเข้ารับการรักษาแต่ละครั้งนั้นทางผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายในอัตราร้อยละ 30-50 ของค่ารักษาพยาบาล มาใช้กับผู้เอาประกันภัยที่ใช้สิทธิ์เกินความจำเป็นที่เข้าเงื่อนไข ประกอบด้วย ผู้เอาประกันภัยที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากการใช้บริการแผนกผู้ป่วยนอกสำหรับการรักษากลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไปตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในรอบปีกรมธรรม์ตั้งแต่ 2 เท่า ( 200%) ของเบี้ยประกันภัย
รวมถึง ผู้เอาประกันภัยที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยจากการใช้บริการแผนกผู้ป่วยในตั้งแต่ 4 เท่า ( 400%) ของเบี้ยประกันภัย ซึ่งไม่รวมการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือการผ่าตัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไข copayment จะนำมาใช้กับกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพที่ซื้อหรือต่ออายุสัญญาเพิ่มเติม กรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยหลังจากวันที่ 1 มี.ค.68 เท่านั้น
กรณีนี้ CGSI ประเมินว่า การกำหนดเงื่อนไข copayment จะช่วยลด moral hazard จากการเคลมประกันสุขภาพสูงเกินไปและบ่อยเกินไป โดย copayment น่าจะทำให้ผู้เอาประกันภัยและแพทย์ที่ทำการรักษาพิจารณาถึงความจำเป็นในการรักษาและค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบขึ้น นอกจากนี้ copayment จะช่วยให้เบี้ยประกันภัยลดลงด้วยการลดการเบิกเคลมที่ไม่จำเป็นและทำให้ธุรกิจประกันภัยมีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น
ดังนั้น จึงเชื่อว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาล 6 บริษัทที่ทำการศึกษา คาดว่า copayment จะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทที่ศึกษาเพียงร้อยละ 1-2 ในปี 68 และร้อยละ 2-3 ในปี 69 ซึ่งค่อนข้างน้อย จึงยังไม่รวมไว้ในประมาณการ ได้แก่ BDMS, BH, BCH, CHG, PR9, RAM โดย BDMS น่าจะมีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยที่ทำประกันภัยสุขภาพเองมากที่สุด หรือร้อยละ 31 ของรายได้จากค่ารักษาพยาบาลในงวด 9 เดือนปี 67 // รองลงมาคือ PR9 ที่ร้อยละ 27 // ส่วน BH น่าจะมีสัดส่วนต่ำสุดที่ร้อยละ 19
ทั้งนี้ กลุ่มการแพทย์ underperform ตลาดอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 4/67 ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก เพราะกังวลกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ชะลอตัว และผลกำไรที่มีแนวโน้มอ่อนตัว ทำให้กลุ่มการแพทย์จึงปรับตัวลงร้อยนละ 20 เทียบจากสิ้นไตรมาส 3/67 ขณะที่ดัชนี SET ปรับลงร้อยละ 6 จึงยังแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) ในกลุ่มการแพทย์ โดยเลือก BH ให้ราคาเป้าหมาย 297 บาท และ BCH ราคาเป้าหมาย 19.70 บาท เป็นหุ้น Top pick
โดยมองว่า ปัจจัยบวกที่จะหนุนราคาหุ้นกลุ่มนี้ คือ การกลับมาของผู้ป่วยชาวต่างชาติและผู้ป่วยจากคูเวต แต่คำแนะนำจะมี downside risk หากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการลดลงมาก หลังการบังคับใช้ copayment และรัฐบาลคูเวตประกาศรายชื่อโรงพยาบาลไทยที่ประชาชนสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากรัฐล่าช้า
ด้านหลักทรัพย์กสิกรไทย ที่ประเมินกรณี copayment กับกลุ่มโรงพยาบาลว่า เบี้ยประกันสุขภาพมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมากกว่าร้อยละ 80 ออกโดยบริษัทประกันชีวิต และร้อยละ 78 เป็นเบี้ยประกันสุขภาพรายบุคคล
ซึ่งแผน co-payment ที่เป็นเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่มีแผนร่วมจ่ายตั้งแต่วันแรกจะเริ่มขายในเดือนมี.ค. ปีนี้ คาดจะส่งผลกระทบที่ไม่มีนัยต่อโรงพยาบาลเอกชนในระยะสั้น (1-2 ปี) และยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบในระยะกลางถึงระยะยาว
สรุปข่าว
ที่มาข้อมูล : หาเอง/ตัดต่อเอง
ที่มารูปภาพ : บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย