TNN จากสหภาพโซเวียตสู่รัสเซีย ความแข็งแกร่งที่ไม่มีใครทำลายได้ แม้ต้องเผชิญวิกฤตและการคว่ำบาตร

TNN

World

จากสหภาพโซเวียตสู่รัสเซีย ความแข็งแกร่งที่ไม่มีใครทำลายได้ แม้ต้องเผชิญวิกฤตและการคว่ำบาตร

จากสหภาพโซเวียตสู่รัสเซีย ความแข็งแกร่งที่ไม่มีใครทำลายได้ แม้ต้องเผชิญวิกฤตและการคว่ำบาตร

“ถึงเพื่อนร่วมชาติ พี่น้องประชาชนทั้งหลาย จากสถานการณ์ปัจจุบัน และหลังจากที่มีการสถาปนารัฐเอกราช ผมขอลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต” มิคาอิล กอร์บาร์ชอฟ กล่าวแถลงลาออกจากประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต วันที่ 25 ธันวาคม 1991

สิ้นเสียงประกาศลาออกของ ‘มิคาอิล กอร์บาชอฟ’ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ และผู้นำคนสุดท้ายแห่งสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 1991 ธงชาติสีแดง รูปค้อนและเคียวสีทองไขว้กัน พร้อมด้วยดาวแดงขอบทองก็ถูกปลดลงจากทำเนียบเครมลิน แทนที่ด้วยธงชาติรัสเซีย และในวันรุ่งขึ้น 15 ประเทศที่อยู่ภายใต้สหภาพโซเวียต ก็ประกาศแยกตัวออกเป็นรัฐเอกราช ถือเป็นการสิ้นสุดความเป็นสหภาพอย่างเป็นทางการ 


ปิดตำนานประเทศคอมมิวนิสต์ที่ยิ่งใหญ่สุดของโลก เดินหน้าสู่ ‘สหพันธรัฐรัสเซีย’ หนึ่งในชาติมหาอำนาจ ที่ยังคงมีอิทธิพลต่อโลกในปัจจุบัน ที่แม้จะผ่านแรงกดดันจากนานาชาติมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถล้มความแข็งแกร่งของรัสเซียได้ 


◾◾◾

🔴 การล่มสลายสหภาพโซเวียต


ในช่วงที่เศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตกำลังตกต่ำ ‘กอร์บาร์ชอฟ’ ผู้มีความมุ่งมั่นหวังปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเมืองของโซเวียต ด้วยการดำเนิน 2 นโยบาย อย่าง ‘กลาสนอส์’ คือ การเปิดกว้างทางเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง และนโยบาย ‘เปเรสตรอยกา’ คือ การปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ


การดำเนินนโยบายดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลตามที่กอร์บาชอฟคาดหวังไว้ แต่กลับทำให้ประชาชนในสหภาพโซเวียต ได้เห็นว่า ตนเองนั้นถูกกดขี่มากเพียงใดเมื่อเทียบกับชาติตะวันตก หนำซ้ำนโยบาย ‘เปเรสตรอยกา’ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนได้ ทำให้ความนิยมของกอร์บาร์ชอฟตกต่ำลงเรื่อย ๆ 


การประท้วงเริ่มต้นขึ้นในหลากหลายประเทศของสหภาพโซเวียต ตามด้วยการประกาศเอกราชของเอสโตเนียในปี 1988 ตามด้วยประเทศอื่น ๆ ในสหภาพโซเวียต ซึ่งภายหลังเริ่มมีการรับรองอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1990 


ระหว่างนั้น มีความพยายามในการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากกอร์บาชอฟแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ


อย่างไรก็ตาม ผู้นำของรัสเซีย, ยูเครน และเบลารุสสมัยนั้น ได้ตระหนักถึงความเป็นรัฐอิสระของกันและกัน จึงร่วมลงนามข้อตกลงเบลาเวซา (Belavezha Accord) ในวันที่ 8 ธันวาคม 1991 ยุติความเป็นสหภาพ และประกาศแนวคิดเครือรัฐเอกราช หรือ CIS ที่จะนำเข้ามาแทนที่สหภาพโซเวียตในวันที่ 8 ธันวาคม 1991 โดยก่อตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ธันวาคม หลังผู้นำทั้ง 11 ประเทศของสหภาพโซเวียตเดินทางมาคาซัคสถาน เพื่อรับหลักการของ CIS


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่าง ๆ มากมายในช่วงปลายปี 1991 ส่งผลให้กอร์บาชอฟไม่มีทางเลือก จึงต้องลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากนั้น ส่งต่ออำนาจให้กับ ‘บอริส เยลต์ซิน’ ประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย


◾◾◾

🔴 ‘สหพันธรัฐรัสเซีย’ ร่างใหม่ของโซเวียต


หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต หลายประเทศได้ประกาศเอกราชแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต บางประเทศได้เข้าเป็นสมาชิกของนาโต ซึ่งเป็นกลุ่มขั้วฝ่ายตรงข้ามกับรัสเซีย 


‘เยลต์ซิน’ ในฐานะผู้นำรัสเซีย เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากแบบสังคมนิยม ให้กลายเป็นรูปแบบทุนนิยมมากขึ้น ยกเลิกการควบคุมราคาสินค้า เปลี่ยนกิจการของรัฐ ให้เป็นกิจการของเอกชน 


แต่ถึงกระนั้น การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบฉับพลัน ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจของรัสเซียดีขึ้น เนื่องจากความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่เพียงแค่กลุ่มอภิมหาเศรษฐีเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความยากจน 


นอกจากนี้ ยังเกิดการทุจริตในข่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง ทำให้ผู้ที่เคยสนับสนุนเขา หันแปรเปลี่ยนมาเป็นผู้ต่อต้าน 


เหตุการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ท้ายที่สุด เยลต์ซินตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในวันที่ 31 ธันวาคม 1999 ส่งมอบอำนาจต่อให้นายกฯ ของเขา คือ ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ อดีตสายลับ KGB ผู้ที่ปัจจุบันถูกขนานนามว่า เป็นซาร์องค์ใหม่ของรัสเซีย 


◾◾◾

🔴 การก้าวขึ้นสู่อำนาจของ ‘ปูติน’ 


หลังปูตินก้าวขึ้นสู่อำนาจ และชนะเลือกตั้งในปี 2000 ช่วงต้น เขาได้สร้างระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำในรัสเซีย ด้วยการปราบปรามรัฐสภา ปราบปรามสื่ออิสระ เอาบริษัทน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ของประเทศให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ  


อย่างไรก็ตาม ช่วงระหว่างปี 2000-2004 ปูตินได้วางแนวทางเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ รวมถึงต่อรองอำนาจกับกลุ่ม ‘โอลิการ์ก’ หรือ อภิมหาเศรษฐีรัสเซีย โดยเขายังอนุญาตให้กลุ่มโอลิการ์กสามารถรักษาอิทธิพลของพวกเขาไว้ได้ตามเดิม แต่ก็แลกกับการสนับสนุนและเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลปูติน


เมื่อปูตินดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครบ 2 สมัย ปี 2008 เขาจึงได้ดัน ‘ดมิตรี เมเวเดฟ’ ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และทำให้เมเวเดฟชนะเลือกตั้ง โดยมีปูตินดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า อำนาจของปูตินยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน 


GDP ของรัสเซียตั้งแต่ปี 2000-2008 พุ่งทะยานขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูง ทั้งนี้ ในปี 2008 ปูตินเคยกล่าวเอาไว้ว่า สองความสำเร็จในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 คือ การเอาชนะวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการรักษาจำนวนประชากรให้คงที่ หลังประเทศต้องเผชิญภาวะประชากรถดถอยมานานถึง 20 ปี และท้ายสุดในปี 2012 ปูตินก็กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน 


◾◾◾

🔴 อิทธิพลที่ยังคงอยู่


แม้รัสเซียเคยเผชิญวิกฤตต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะการถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ หลังการเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครนเมื่อปี 2022 ก็ไม่สามารถทำลายความแข็งแกร่งของรัสเซียได้ ในทางกลับกันรัสเซียก็มีอิทธิพลเหนือบางประเทศ โดยเฉพาะในเรื่อง “พลังงาน” ที่บางส่วนยังจำเป็นต้องพึ่งพารัสเซีย 


Euro News Business วิเคราะห์ไว้ว่า ที่เศรษฐกิจของรัสเซียยังคงแข็งแกร่ง แม้จะถูกคว่ำบาตร เป็นเพราะรัสเซียได้เตรียมการเอาไว้แล้ว เพราะนี่ไม่ใช่การคว่ำบาตรครั้งแรกจากนานาชาติ แต่พวกเขาเคยถูกคว่ำบาตรเมื่อตอนผนวกไครเมียในปี 2014 มาแล้ว 


รัสเซียเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจสงคราม (War Economy) หันไปผูกสัมพันธ์การชาติตะวันออกมากขึ้น เช่น จีน เป็นต้น 


ขณะเดียวกัน น้ำมันก็มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจรัสเซียไม่ล่มสลาย คริสโตเฟอร์ วีเฟอร์ CEO ของบริษัท Macro-Advisory กล่าวว่า ภาษีจากน้ำมันทำให้งบประมาณแผ่นดินมีเพียงพอที่จะนำไปลงทุนกับอุตสาหกรรมทางทหาร, การใช้จ่ายทางสังคม และงบประมาณอื่น ๆ ที่มีการขาดดุลน้อยกว่า 1% ของ GDP 


นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงาน หลังมีการเกณฑ์ทหาร และประชาชนบางส่วนได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ ทำให้ผู้คนในประเทศสามารถหางานได้ง่ายขึ้น อัตราการว่างงานลดลง ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้เป็นการกระตุ้นให้มีการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เนื่องจากประชาชนมีเงินมาจับจ่ายใช้สอย และการขาดแคลนสินค้าที่เกิดจากการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เนื่องจากรัสเซียได้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพใกล้เคียงมาวางขายทดแทน 


จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สู่การเปลี่ยนผ่านเป็นสหพันธรัฐรัสเซีย หลายทศวรรษที่ผ่านมา รัสเซียได้พิสูจน์ความแข็งแกร่งให้โลกได้รับรู้ว่ามีมากเพียงใด การเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 5 ของปูตินที่เกิดขึ้นในวันที่ 15-17 มีนาคม จะยิ่งตอกย้ำว่าอิทธิพลของปูตินนั้น ยังคงมีมากแค่ไหน หากเขาคว้าชัยได้ในครั้งนี้ และโลกต่อจากนี้จะต้องทำตัวอย่างไร เมื่อวิกฤตความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป 

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: Getty Images, Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

Wikipedia (1), Wikipedia (2), Wikipedia (3), Wikipedia (4), Wikipedia (5), Wikipedia (6), Euro News


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง