TNN ออสเตรเลียใช้โดรน AI สำรวจใต้ทะเล สู้ปัญหาปะการังฟอกขาว

TNN

Tech

ออสเตรเลียใช้โดรน AI สำรวจใต้ทะเล สู้ปัญหาปะการังฟอกขาว

ออสเตรเลียใช้โดรน AI สำรวจใต้ทะเล สู้ปัญหาปะการังฟอกขาว

หน่วยงานวิจัยทางทะเลเขตร้อนของออสเตรเลียใช้โดรน AI ใต้น้ำ เพื่อช่วยสำรวจแนวปะการัง Great Barrier Reef สู้ปัญหาปะการังฟอกขาว

หน่วยงานวิจัยทางทะเลเขตร้อนของประเทศออสเตรเลีย หาวิธีสู้กับปัญหาปะการังฟอกขาว ด้วยการใช้โดรนเอไอสำรวจใต้น้ำ บริเวณแนวปะการัง เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) แนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาปะการังฟอกขาวเป็นวงกว้างอยู่ในขณะนี้


ออสเตรเลียใช้โดรน AI สำรวจใต้ทะเล สู้ปัญหาปะการังฟอกขาว ภาพจากรอยเตอร์ 

 

โดรนลำนี้มีชื่อว่า ไฮดรัส (Hydrus) ซึ่งเป็นโดรนที่ช่วยให้ทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย (AIMS - Australian Institute of Marine Science) สามารถดำเนินการสำรวจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแนวปะการังได้อย่างแม่นยำและสม่ำเสมอและช่วยขยายขอบเขตการสำรวจให้กว้างขึ้น


โดยลำนี้สามารถทำงานแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบโดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือระบบ GPS โดยมีระบบโซนาร์ และระบบนำทางที่ขับเคลื่อนด้วย AI ให้ระยะการทำงานไกลสุด 9 กิโลเมตร ที่ระดับความลึกสูงสุด 3,000 เมตร และทำงานต่อเนื่องได้นานสูงสุด 3 ชั่วโมง โดยสามารถจับภาพวิดีโอความชัดระดับ 4k พร้อมการวิเคราะห์ในเวลาเดียวกัน


ทีมวิจัยกล่าวว่า ข้อดีของการใช้งานโดรนสำรวจก็คือ มันจะกลับไปถ่ายรูปยังตำแหน่งเดิมที่ต้องการสำรวจได้แม่นยำทุกครั้ง เมื่อเทียบกับการใช้ทีมดำน้ำที่เป็นมนุษย์ ที่อาจจะมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง และการใช้โดรนยังช่วยลดความเสี่ยงอันตรายของทีมนักดำน้ำได้ด้วย


ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังใช้โดรนลำนี้ ช่วยสร้างแผนที่ 3 มิติของแนวปะการังที่กำลังสำรวจอยู่ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงในแนวปะการัง ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตหรือการเสื่อมโทรม โดยภาพจากตัวโดรนทำให้ทีมวิจัยสามารถสร้างแฝดดิจิทัลของแนวปะการังได้ ช่วยให้เห็นภาพว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังอย่างไรบ้าง


สำหรับแนวปะการัง เกรตแบร์ริเออร์รีฟ เป็นแนวปะการังที่ทอดยาวกว่า 2,300 กิโลเมตร ตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย โดยพบเหตุการณ์การฟอกขาวครั้งใหญ่ 7 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1998 การฟอกขาวเกิดขึ้นจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ซึ่งทำให้ปะการังขับสาหร่ายสีสันสดใสที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกมาและเปลี่ยนเป็นสีขาว ซึ่งปะการังฟอกขาวสามารถฟื้นตัวได้หากน้ำเย็นลง แต่หากอุณหภูมิของน้ำทะเลยังคงสูงอยู่เป็นเวลานาน ปะการังก็จะตาย


นักวิทยาศาสตร์คาดว่าแนวปะการังจำนวนมากจะฟอกขาวในปีนี้ หลังจากที่ระดับความร้อนในมหาสมุทร ทำลายสถิติมานานหลายเดือน ซึ่งถ้าหากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่า โลกของเรา อาจสูญเสียปะการังได้ถึงร้อยละ 90 ภายในปี 2050 นี้



ข้อมูลจาก reutersconnect, artsandculturewwf.org.au

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง